กรมการค้าภายในพูดซ้ำ! ยังไม่ให้ “มาม่า” ขึ้นราคา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กรมการค้าภายในพูดซ้ำ! ยังไม่ให้ “มาม่า” ขึ้นราคา

Date Time: 19 ก.ค. 2565 05:38 น.

Summary

  • ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าตัวแทนจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” แจ้งผู้ค้าส่งอย่างไม่เป็นทางการว่าจะปรับขึ้นราคาขายอีกซองละ 1 บาท

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าตัวแทนจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” แจ้งผู้ค้าส่งอย่างไม่เป็นทางการว่าจะปรับขึ้นราคาขายอีกซองละ 1 บาท จาก 6 บาทเป็น 7 บาทตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.65 ว่า ยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้อนุญาตให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาขายตามที่เป็นข่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนอย่างละเอียด ทั้งนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 การจะปรับขึ้นราคาต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน

“กรณีที่มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะปรับขึ้นราคาขาย เป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชน และอาจกระทบต่อราคาขายปลีก เพราะอาจมีผู้ค้าบางรายฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขายไปแล้วตามที่มีข่าวออกมา ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นข่าวจริง ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้กับประชาชนได้”

สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ กระทรวงพาณิชย์ ยังขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาขายให้นานที่สุด เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม การดูแลราคาสินค้า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ให้นโยบายว่าจะใช้ “วิน-วิน โมเดล” โดยจะพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเกษตรกรจะยังขายผลผลิตได้ในราคาดี ผู้ผลิตจะต้องทำธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (18 ก.ค.) นายจุรินทร์กล่าวถึงราคาน้ำมันปาล์มว่า สัปดาห์ที่แล้ว ราคาขายในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ลดลงมาขวดละ 5-6 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนผลปาล์มสด และราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลง และในสัปดาห์นี้ผู้ประกอบการจะลดราคาอีกขวดละ 3-4 บาท สำหรับราคาไก่สด คาดจะลดลงเร็วๆนี้ หลังจากกรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือโรงชำแหละรายใหญ่ให้ปรับลดราคาลง โดยราคาที่สูงขึ้นมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ที่นำเข้ามีราคาสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรสูงขึ้น ขณะที่ราคาเนื้อหมู สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติให้ความร่วมมือตรึงราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 100 บาท แม้ต้นทุนการเลี้ยงยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ