นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กทพ. เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ กทพ. ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้เหมาะกับการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรในอนาคต รองรับการบริการประชาชน
โดยเฉพาะการนำระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow มาใช้ โดยโครงสร้างใหม่จะมีการเพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่า กทพ.จากเดิม 5 ตำแหน่ง เพิ่มอีก 2 ตำแหน่งเป็น 7 ตำแหน่ง คือรองบริหารฝ่ายทรัพย์สิน และรองฝ่ายเทคโนโลยี (ไอที) และยังคงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ว่าการ กทพ. 1 ตำแหน่ง และตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่า กทพ. 1 ตำแหน่งเช่นเดิม ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างองค์กรดังกล่าวเพื่อรองรับกับภารกิจที่ กทพ.จะต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ในส่วนของโครงสร้างองค์กรเดิม กทพ.จะมีพนักงานรวมกว่า 2,500 คน และมีเจ้าหน้าที่พนักงานเก็บค่าผ่านทางอีกกว่า 3,000 คน และเมื่อมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ กทพ. จะรวมพนักงานเก็บเงินตามด่านมาเป็นพนักงานออฟฟิศ โดยจะมีการฝึกอบรม เพิ่มทักษะความสามารถให้เหมาะกับวุฒิที่แต่ละคนจบมา และไปอยู่แผนกที่มีความถนัด ซึ่งจะทำให้โครงสร้างองค์กร กทพ.จะมีทั้งสิ้น 5,535 อัตรา และมีลูกจ้างอีกกว่า 729 อัตรา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กทพ.จะมีต้นทุนค่าใช้งานที่เป็นเงินเดือน พนักงานกว่า 35-40% ของต้นทุนบริหารจัดการทั้งหมด หากมีการปรับโครงสร้างก็จะไม่มีต้นทุนพนักงานเพิ่ม เนื่องจากตำแหน่งที่เพิ่มจะเป็นการยุบจากตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบเดิม หรือใกล้เคียงมาตำแหน่งใหม่ โดยโอนโครงสร้างเงินเดือนเดิมมาติดตัวกับตำแหน่งใหม่ด้วย ซึ่งการปรับจัดทัพพนักงานใหม่ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับลด หรือปลดพนักงานแต่อย่างใด
สำหรับสาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มตำแหน่ง รองผู้ว่าการ กทพ. ในส่วนการบริหารทรัพย์สินนั้น เพื่อรองรับการดำเนินการโครงการใหม่ๆในอนาคตของ กทพ. ซึ่งนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้นโยบายว่า หากต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อมาสร้างทาง จะต้องนำพื้นที่มาต่อยอด นอกจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางแล้ว จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ข้างทางด้วย ซึ่งรองฝ่ายทรัพย์สินจะเข้ามาดูแล และบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร ซึ่งรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ กทพ.จะนำมาเป็นงบประมาณชดเชย เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางเสียค่าบริการที่ถูกลงในอนาคต ส่วนรองผู้ว่าการ กทพ.ฝ่ายเทคโนโลยี จะเข้ามาดูแลระบบไอทีทั้งหมดที่จะทำให้องค์กรมีการให้บริการที่ทันสมัยสะดวกกับประชาชน.