พิษ “คว่ำบาตร” รัสเซียทุบส่งออกไทย ค่ายรถญี่ปุ่นโดนเบรกหัวทิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พิษ “คว่ำบาตร” รัสเซียทุบส่งออกไทย ค่ายรถญี่ปุ่นโดนเบรกหัวทิ่ม

Date Time: 15 ก.ค. 2565 06:15 น.

Summary

  • ทูตพาณิชย์ไทยในรัสเซีย เผยส่งออกไทยไปรัสเซียทรุดต่อเนื่อง ล่าสุด พ.ค.65 ติดลบ 64.98% ส่วน 5 เดือน ติดลบ 31.99% หลังมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจพ่นพิษ ทำค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยระงับส่งออกทั้งหมด

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ทูตพาณิชย์ไทยในรัสเซีย เผยส่งออกไทยไปรัสเซียทรุดต่อเนื่อง ล่าสุด พ.ค.65 ติดลบ 64.98% ส่วน 5 เดือน ติดลบ 31.99% หลังมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจพ่นพิษ ทำค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยระงับส่งออกทั้งหมด ชี้ถ้าสงครามยืดเยื้ออาจเสียตลาดให้จีน คาดปีนี้ส่งออกไปรัสเซียติดลบแน่ 55%

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียยังหดตัวรุนแรงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค.65 โดยล่าสุดเดือน พ.ค.65 มีมูลค่าส่งออกเหลือเพียง 25.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 64.98% เมื่อเทียบเดือน พ.ค.64 ส่วนช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปีนี้ มูลค่าอยู่ที่ 250.13 ล้านเหรียญฯ ลดลงถึง 31.99% เทียบช่วงเดียวกันปี 64 ขณะที่เดือน มี.ค.65 อยู่ที่ 22.3 ล้านเหรียญฯ ลดลง 73% จากเดือน มี.ค.64 และเดือน เม.ย.65 มูลค่า 16.6 ล้านเหรียญฯ ลดลง 76.77% จากเดือน เม.ย.64

“นับตั้งแต่รัสเซียใช้ปฏิบัติการทางทหารกับยูเครนในช่วงปลายเดือน ก.พ.65 ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียหดตัวอย่างรุนแรง สินค้าหลักทุกหมวดล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมดจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเข้าถึงเงินสกุลหลัก การขาดแคลนชิ้นส่วนในระบบห่วงโซ่การผลิต และที่สำคัญ คือ ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่จำกัดและไม่มีความแน่นอน คาดว่าภาวะวิกฤตินี้จะยืดเยื้อ และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็วๆนี้”

สำหรับเดือน พ.ค.65 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยไปรัสเซีย มีสัดส่วน 79.66% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด มีอัตราหดตัวสูงถึง 31.30% โดยรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่เคยครองสัดส่วนมูลค่าสูงที่สุดมาโดยตลอด ตกไปอยู่อันดับ 26 และหดตัวถึง 99.76% โดยรถยนต์ทุกประเภท ไม่ปรากฏมูลค่าการส่งออกเหลืออยู่เลย มีเพียงส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ที่มีมูลค่าส่งออกเพียง 100,000 เหรียญฯ

ส่วนสินค้า 6 ใน 10 อันดับแรก ล้วนหดตัวทั้งหมด ทั้งเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ติดลบ 38.73%, ผลิตภัณฑ์ยาง ติดลบ 41.95%, เม็ดพลาสติก ติดลบ 44.95%, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ติดลบ 43.01%, ยางพารา ติดลบ 44.23% และรองเท้าและชิ้นส่วน ติดลบ 41.39% แม้มี 4 หมวดที่ขยายตัวเป็นบวก แต่มีสัดส่วนการส่งออกต่ำ ทั้งอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ที่เพิ่ม 23.11%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 382.78%, น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่ม 7.84% และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เพิ่ม 185.50%

นายกิตตินันท์กล่าวต่อว่า หมวดยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกหลัก สัดส่วนสูงถึง 40% ของการส่งออกไทยไปรัสเซีย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น และญี่ปุ่นได้ร่วมออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย จึงระงับการส่งออกจากไทยไปรัสเซียทั้งหมด และฉุดให้การส่งออกภาพรวมของไทยไปรัสเซียลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่สินค้าอื่นๆทั้งผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบยางพารา และอาหาร ได้รับผลกระทบจากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีผลมาจากมาตรการคว่ำบาตร ทั้งการขนส่งทางเรือ และทางอากาศ อีกทั้งสายการเดินเรือ และสายการบินได้ขึ้นค่าขนส่งสินค้าจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จึงยิ่งทำให้ต้นทุนขนส่งสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่นานาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย และปิดโรงงานในรัสเซีย รวมถึงไม่ส่งออกสินค้าต่างๆไปรัสเซียนั้น ส่งผลให้สินค้าจากจีน สามารถยึดครองตลาดรัสเซียได้แล้ว โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงยานยนต์และส่วนประกอบ หากสงครามยังคงยืดเยื้อ อาจทำให้สินค้าจากนานาชาติเสียตลาดรัสเซียให้กับจีนได้ รวมถึงไทย เพราะสินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มเหล่านี้มักเป็นการผลิตให้กับบริษัทของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ

“จากการสำรวจสินค้าในตลาดค้าปลีกในกรุงมอสโก พบว่า อาหารจากเอเชียเริ่มขาดตลาด และปรับขึ้นราคากว่า 2-3 เท่าตัว คาดว่า ความต้องการอาหารจากไทยทุกประเภทจะลดลงมาก เพราะอาหารไทยไม่ใช่อาหารหลักของรัสเซีย หากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ยังยืดเยื้อ อุปสรรคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไม่บรรเทาลง คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียในปีนี้อาจลดลงถึง 55% เทียบปี 64 จากเดิมที่คาดปีนี้จะเพิ่มขึ้น 7-8%”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ