ปตท.ตรึงราคาเอ็นจีวีต่อ 3 เดือน กกพ.แย้มค่าเอฟทีงวดปลายปีพุ่งเกิน 40 สต.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปตท.ตรึงราคาเอ็นจีวีต่อ 3 เดือน กกพ.แย้มค่าเอฟทีงวดปลายปีพุ่งเกิน 40 สต.

Date Time: 18 มิ.ย. 2565 06:12 น.

Summary

  • ปตท.ขยายเวลาตรึงราคาเอ็นจีวีต่ออีก 3 เดือน และกำลังพิจารณาให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย 100 บาท/คน/เดือน ต่อให้อีก 3 เดือน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ปตท.ขยายเวลาตรึงราคาเอ็นจีวีต่ออีก 3 เดือน และกำลังพิจารณาให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย 100 บาท/คน/เดือน ต่อให้อีก 3 เดือน ด้าน กกพ. ยกสารพัดปัจจัยรุมล้อม ส่งสัญญาณค่าไฟฟ้า (เอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.–ธ.ค.65) มีโอกาสปรับขึ้นทะลุ 40 สตางค์ต่อหน่วย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ขยายเวลาตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม (กก.) และตรึงราคาขายปลีกสำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กก.ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 15 ก.ย.นี้ รวมเป็นเงินอีก 2,800 ล้านบาท อีกทั้งกำลังพิจารณาขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ที่จะหมดอายุในเดือน มิ.ย.นี้ ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้

ที่ผ่านมา ปตท. ได้ช่วยเหลือค่าพลังงานแก่ประชาชน ขานรับนโยบายภาครัฐ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกภาคส่วน รวมงบประมาณที่ได้ช่วยเหลือไปแล้ว 5,200 ล้านบาท อาทิ การจัดหาน้ำมันดิบสำรองเพิ่มเติมเป็นเงินกว่า 550 ล้านบาท การตรึงราคาขายปลีกช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้รถเอ็นจีวีส่วนบุคคลใช้งบ 3,900 ล้านบาท ตรึงราคาขายปลีกเอ็นจีวีสำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเงิน 400 ล้านบาท การให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 18 ล้านบาท การบรรเทาภาระต้นทุนในภาคการผลิตไฟฟ้า 340 ล้านบาท ฯลฯ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ไขข้อข้องใจ...รับมือค่าไฟครึ่งปีหลัง” จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า แนวโน้มการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากประมาณการไว้เดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้น 40 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย เนื่องจากมีการนำก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากเชื้อเพลิงรวมจากเดิมคาดว่าจะใช้แอลเอ็นจี 30% หลังต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลง ประกอบกับการรับก๊าซธรรมชาติจากเมียนมามีแนวโน้มลดลง อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมประมาณการอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้ แต่เบื้องต้นคาดว่า เมื่อนำไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานก็อาจจะปรับขึ้นไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4 บาทต่อหน่วย (รวมค่าเอฟที) และการปรับขึ้นในรอบนี้ยังไม่รวมกับภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับไว้ 80,000 ล้านบาท หากรวมในส่วนนี้จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงต้องปรับขึ้นอีก 1 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช กล่าวว่า การบริหารจัดการแผนพลังงานในระยะสั้นจากนี้ไป กกพ.จะเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง โดยบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบ ด้วยการยืดการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จากเดิมมีกำหนดปี 2564 ออกไปปี 2565 แทน เพื่อลดการนำเข้าแอลเอ็นจีในช่วงเวลาที่มีราคาแพง รวมถึงการออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังเสนอภาครัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า เพื่อรับมือกรณีเกิดวิกฤติต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผันผวน โดยเสนอเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. (Energy Pool Price) ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงผลิตเพื่อผลิตไฟฟ้าตามสถานการณ์ต้นทุน โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุด

เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติคู่ขนานกับนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติที่เปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามานำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม หรือเกิดการแข่งขันนำเข้า เป็นต้น

“การบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องควรมีการบริหารจัดการระยะยาว เพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านโครงสร้างการจัดการพลังงานระยะยาวของประเทศ ได้แก่ โครงการจัดการพลังงานในอนาคต เช่น แผนการจัดหาเชื้อเพลิงในระยะยาว เรื่องคลังสำรองแอลเอ็นจีรวมถึงการวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานให้สอดคล้องกับแผนการจัดหาเชื้อเพลิง”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ