นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ได้เห็นชอบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างความมั่นใจทรัพยากรน้ำให้คนพื้นที่อีอีซีและนักลงทุน ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงต่อทรัพยากรน้ำที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ระบบทั้งเพื่อการบริโภค ภาคเกษตร การผลิตในอุตสาหกรรม โครงการดังกล่าวจะมีการติดตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเมืองพัทยา ซึ่งในอีก 5 ปี หรือปี 2570 จะมีความจำเป็นต้องผลิตน้ำจืด จากน้ำทะเลบริเวณมาบตาพุด 200,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน และพื้นที่อีอีซีในปี 2580 ต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 300,000 ลบ.ม.ต่อวัน
“กบอ.ยังได้เห็นชอบการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงโดยยกระดับบริการด้านยีนบำบัด (Gene therapy) สำหรับโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ ที่พบได้บ่อยในคนไทยและมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลต่อเนื่อง เป็นภาระของผู้ปกครอง ครอบครัว และประเทศ ปัจจุบันมีโอกาสรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ด้วยยีนบำบัดแต่ยังอยู่ในระยะวิจัยทางคลินิกคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและการสูญเสียงบในการรักษาผู้ป่วยได้ปีละ 3,000 ล้านบาท”.