บอร์ดบีโอไออนุมติโครงการลงทุน 209,478 ล้านบาท ชี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ช่วยเกิดการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นเป็นโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ที่ร่วมทุนของ ปตท. และฟ็อกซ์คอนน์ มูลค่า 36,100 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า มีนโยบายให้มีการปรับโครงสร้างภายในของบีโอไอให้สอดรับกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน เพราะเรื่องการให้สิทธิประโยชน์เรื่องภาษีอย่างเดียว ไม่เพียงพอ หรือไม่เป็นธรรม
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 209,478 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด มูลค่า 36,100 ล้านบาท ซึ่งร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 60% กับฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป 4% โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด 162,318 ล้านบาท กิจการผลิตเส้นใยและกิจการผลิตผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษของกลุ่มบริษัท คิงบอร์ด โฮลดิ้งส์ 8,230 ล้านบาท และการขยายกิจการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ของบริษัท ไออาร์พีซี คลีน
พาวเวอร์ จำกัด 2,830 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ๆที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก และมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป
“ในปีนี้ยังคงเป้าขอรับการส่งเสริมการลงทุน 600,000 ล้านบาท ขณะที่สงครามรัสเซียและยูเครน ตลอดจนมาตรการคว่ำบาตร ไม่มีผลให้การขอรับบีโอไอให้ลดลง แต่เป็นตัวเร่งการย้ายฐานการลงทุนเข้ามาไทยมากขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต โดยเพิ่มเวลาการให้สิทธิและประโยชน์ลดหย่อน อากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ในกรณีที่ผลิตจำหน่ายในประเทศ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี กรณีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริม และได้รับอนุมัติไปแล้ว สามารถแก้ไขโครงการ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ได้ โดยปัจจุบันมีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุน ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า 16 โครงการ จาก 10 บริษัท รวม 4,820 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ในกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง รวม 3 โครงการ มูลค่า 6,746 ล้านบาท
“บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 5 ด้าน ได้แก่ Smart Facilities, Smart IT, Smart Energy, Smart Economy และบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆอย่างน้อยอีก 1 ใน 3 ด้าน ดังนี้ Smart Good Corporate Governance, Smart Living และ Smart Workforce พร้อมยกเลิกเงื่อนไข ห้ามตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ โดยให้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม และเปิดให้บีโอไอในกิจการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับนิคม หรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นนิคมหรือเขตอัจฉริยะ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติม”
นอกจากนี้ กำหนดให้นิติบุคคลต่างด้าว ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ที่มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท โดยถือครองที่ดินเป็นที่ตั้งสำนักงานของกิจการได้ไม่เกิน 5 ไร่ ที่ดินเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้บริหารผู้ชำนาญการต่างชาติ ได้ไม่เกิน 10 ไร่ และที่ดินเป็นที่พักอาศัยของคนงาน ได้ไม่เกิน 20 ไร่ หากหมดสภาพการเป็นผู้ได้รับการส่งเสริม ต้องจำหน่ายหรือโอนที่ดินภายใน 1 ปี.