เสริมความมั่นคงพลังงานประเทศ เร่งแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ เปิดขอสิทธิสำรวจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เสริมความมั่นคงพลังงานประเทศ เร่งแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ เปิดขอสิทธิสำรวจ

Date Time: 4 มิ.ย. 2565 06:15 น.

Summary

  • หลังการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) จากระบบสัมปทาน เป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า หลังการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) จากระบบสัมปทาน เป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.65 นั้นล่าสุดพบว่า อัตราการผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยในเดือน พ.ค.65 ของแปลง G1/61 อยู่ที่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแปลง G2/61 อยู่ที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยกรมได้กำกับดูแลและผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต เร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมของแปลง G1/61 ให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยเร็ว เพื่อรักษาความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ

นอกจากนี้ กรมยังได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ดังนี้ 1.ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม โดยจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 และแปลง B-17 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันทยอยเข้าระบบแล้ว 2.กำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทุกราย เตรียมความพร้อมผลิตก๊าซธรรมชาติเต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขาย และขอให้เลื่อนแผนหยุดซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน

และ 3.การจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว โดยเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง คือ แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 พื้นที่ 8,487.20 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.), แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 พื้นที่ 15,030.14 ตร.กม. และแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G3/65 พื้นที่ 11,646.67 ตร.กม.

“หลังออกประกาศเชิญชวนเพื่อเปิดให้ยื่นขอสิทธิ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. กรมได้ประชาสัมพันธ์ไปยังบริษัทปิโตรเลียมในประเทศ และสถานทูตต่างประเทศในไทย เพื่อเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รองรับความผันผวนด้านพลังงานในอนาคต คาดจะเกิดเม็ดเงินลงทุน 1,500 ล้านบาทจากกิจกรรมสำรวจปิโตรเลียม หากพบปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ จะเกิดเม็ดเงินลงทุนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอีกมาก”

สำหรับปีงบประมาณ 65 (เดือน ต.ค.64-มี.ค.65) กรมจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และรายได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมทั้งค่าตอบแทนในการต่อระยะเวลาการผลิต รวม 27,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,161 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย.65 คาดจะจัดเก็บรายได้จากแปลงที่ดำเนินการในระบบสัมปทาน และแปลงในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (รายได้จากค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งกำไร และค่าตอบแทนการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐ) รวม 25,653 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ