ไตรมาส 1 ว่างงาน 6.1 แสนคน ต่ำสุดหลังมีโควิด-หนี้ครัวเรือนพุ่ง 90% ของจีดีพี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไตรมาส 1 ว่างงาน 6.1 แสนคน ต่ำสุดหลังมีโควิด-หนี้ครัวเรือนพุ่ง 90% ของจีดีพี

Date Time: 24 พ.ค. 2565 07:57 น.

Summary

  • สศช.เผยไตรมาส 1/65 มีอัตราว่างงาน 1.53% ต่ำสุดตั้งแต่มีโควิด-19 แต่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนและผู้ว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้น ส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/64 พุ่ง 90.1% ของจีดีพี

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

สศช.เผยไตรมาส 1/65 มีอัตราว่างงาน 1.53% ต่ำสุดตั้งแต่มีโควิด-19 แต่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนและผู้ว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้น ส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/64 พุ่ง 90.1% ของจีดีพี ผวาสินเชื่อรถยนต์ค้างชำระ 1.3 แสนล้านบาท ชี้เด็กหยุดเรียนทำทั่วโลกสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 560 ล้านล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไตรมาส 1/65 ว่า การว่างงานดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมี 610,000 คน ลดลงจาก 760,000 คน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 630,000 คนในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.53% ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มี 305,765 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบ 2.7% อย่างไรก็ตาม มีผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 260,000 คน เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้ว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้น

โดยมีถึง 170,000 คน และอัตราว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงถึง 3.10% ขณะที่ชั่วโมงการทำงานดีขึ้นทั้งในภาพรวม 40.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ และภาคเอกชนที่ 43.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้เสมือนว่างงาน ที่ไตรมาส 1/65 มีถึง 3.8 ล้านคน ขณะที่ผู้ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป หรือกลุ่มทำงานล่วงเวลามีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าช่วงปกติ โดยมีจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา 5.7 ล้านคนในไตรมาส 1/65 จากช่วงปกติ 6-7 ล้านคน

“การจ้างงานไตรมาส 1/65 ดีขึ้น แต่สาขาโรงแรม ภัตตาคาร จ้างงานลดลง 1.1% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในไตรมาส 1/65 ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเพียง 500,000 คน จากปกติ 9-10 ล้านคน จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากที่สุด และติดตามผลกระทบการขึ้นราคาสินค้าที่มีต่อค่าครองชีพของแรงงาน และการจ้างงาน โดยอาจกระทบต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรมจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น และการจ้างงานสาขาขนส่งจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องหามาตรการแก้ปัญหาว่างงานระยะยาวและการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

สำหรับหนี้สินครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 4/64 มีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก 4.2% ของไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สำหรับสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 5.0% จาก 5.8% และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ 6.5% จาก 7.6% ส่วนสินเชื่อที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัว 1.2% จาก 0.3%, สินเชื่อบัตรเครดิต 1.6% จากการหดตัว 0.5% และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อ และลิสซิ่งที่ขยายตัวมากถึง 21.6%

ด้านความสามารถชำระหนี้ดีขึ้น โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มูลค่า 143,000 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อน 4% คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 2.73% แต่ยังต้องเฝ้าระวังเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์ เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 11.08% มูลค่า 130,000 ล้านบาท “ต้องติดตามความสามารถชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เพราะครัวเรือนมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น จากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวยาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยมีสภาพคล่องต่ำ รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้น และผู้เสมือนว่างงานยังมีมาก ค่าครองชีพสูงขึ้น อาจทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอชำระหนี้”

ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ปิดเรียนเป็นเวลานานนั้น ธนาคารโลกประมาณการในปี 63 ว่า การปิดเรียนกว่า 3-9 เดือน อาจทำให้เด็ก 1 คนสูญเสียความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6,472-25,680 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 217,000-864,000 บาท คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทั่วโลก 10-17 ล้านล้านเหรียญฯ หรือราว 560 ล้านล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ