“จุรินทร์” ลุยถกรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปก พุ่งเป้าเดินหน้า FTAAP ส่งเสริมการค้าระบบพหุภาคีขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตในสถานการณ์โควิด-19 วางแนวทางสู่อนาคต โดยไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อน SMEs และ Micro SMEs ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ คาดภาพรวมเศรษฐกิจของ เอเปกจะขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 4.2 ในปี 2022 และน่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2023
ที่ห้อง World Ballroom โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. เวลา 09.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT) ว่า ขอต้อนรับรัฐมนตรีการค้าเอเปก ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านเข้าสู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกประจำปี 2022 ซึ่งประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมขึ้นในรูปแบบกายภาพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เอเปกมีความจำ เป็นต้องจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีได้ร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินการเอเปกให้มีความคืบหน้าต่อไป โดยเฉพาะวาระการดำเนินการสำคัญ คือ FTAAP รวมทั้งการส่งเสริมการค้าในระบบพหุภาคีและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเติบโตในสถานการณ์โควิด-19
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้กำหนดธีมหลักในการประชุมเอเปกในปีนี้ คือ “Open. Connect. Balance.” โดย OPEN คือการเปิดกว้างไปสู่ทุกโอกาสด้านการค้าการลงทุน และการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ผ่านมุมมองใหม่ที่เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทุกภาคส่วนในสังคม ส่วน CONNECT คือการเชื่อมโยงในทุกมิติโดยเฉพาะการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และสุดท้าย BALANCE คือการสร้างสมดุลของการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างรอบด้าน ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยประเด็นสำคัญคือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
รองนายกฯกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวหรือที่เรียก BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาเป็นแนวทาง หรือแนวคิดหลักในการขับเคลื่อน SMEs และ Micro SMEs ของทุกเขตเศรษฐกิจ ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพถือว่าประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ โดยได้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเอเปกในภาพรวมจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับปานกลาง GDP ของเอเปก ขยายตัวร้อยละ 5.9 ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 4.2 ในปี 2022 และน่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2023 นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเอเปกยังได้มีการรับรองวิสัยทัศน์ปุตราจายา ปี 2040 และแผน “เอาทีอารอ” ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินให้กับเอเปก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีและการพัฒนาการค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ การส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจการสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งคน สินค้า และบริการ รวมทั้งระบบการขนส่ง การเดินทางของประชาชนและกฎระเบียบ การส่งเสริมให้วิสาหกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลก และการตอบสนองวิกฤติในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะนำไปสู่การเติบโตที่ครอบคลุมทั่วถึงและยั่งยืนของภูมิภาคเอเปก
“ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกในปีนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยกำหนดทิศทางเชิงนโยบายในการฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในด้านต่างๆ ภายหลังยุคโควิด-19 และเตรียมรับมือกับวิกฤติที่คล้ายคลึงกันในอนาคตได้เป็นอย่างดี” นายจุรินทร์กล่าว