“จุรินทร์” โชว์เอเปก ชู “บีซีจีโมเดล” เจ๋ง เศรษฐกิจชีวภาพ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“จุรินทร์” โชว์เอเปก ชู “บีซีจีโมเดล” เจ๋ง เศรษฐกิจชีวภาพ

Date Time: 21 พ.ค. 2565 05:15 น.

Summary

  • “จุรินทร์” ประกาศผลักดันให้กลุ่มสมาชิกเอเปกใช้ “บีซีจี โมเดล” พัฒนาเศรษฐกิจอย่าง ยั่งยืน สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งขนาดย่อม ผลิตสินค้า-บริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

“จุรินทร์” ประกาศผลักดันให้กลุ่มสมาชิกเอเปกใช้ “บีซีจี โมเดล” พัฒนาเศรษฐกิจอย่าง ยั่งยืน สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งขนาดย่อม ผลิตสินค้า-บริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เตรียมบรรจุในแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปก หลังประเทศ ไทยประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี 64 ประสบ ผลสำเร็จสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เท่า

“จุรินทร์” ประกาศผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีการค้ากลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า วัตถุประสงค์การเสวนาครั้งนี้ เพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในนโยบายเศรษฐกิจแบบบีซีจี (BCG Model) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ต้องการให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์การใช้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี รวมทั้งแลกเปลี่ยนนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) และขนาดย่อม (MSME) ปรับตัวเข้าสู่การใช้เศรษฐกิจแบบบีซีจีขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในกลุ่มสมาชิกเอเปก 21 เขตเศรษฐกิจ

“ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะผลักดันสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจใช้บีซีจีโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสมาชิก เน้นกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามแนวโน้มของโลกที่การผลิตสินค้าต้องไม่เป็นพิษหรือไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจทำให้สินค้าถูกห้ามนำเข้าหรือถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น การใช้บีซีจีโมเดลจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะบรรจุอยู่ในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีการค้าที่จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันวันที่ 22 พ.ค. เพื่อให้สมาชิกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์เปิดเผยต่ออีกว่า ประเทศไทยประกาศบีซีจีโมเดลเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. เพื่อใช้เป็นโมเดลเศรษฐกิจนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ 1.Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพของเอเปกและไทยมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้คุ้มค่าเกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งนำของเหลือใช้หรือผลิตผลที่ได้มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจและนำของที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากสุด และ 3.Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งการผลิตและบริการเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันหลายประเทศอยู่ระหว่างใช้บีซีจีโมเดล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ออสเตรเลีย มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในรัฐควีนส์แลนด์ สิงคโปร์มีนโยบายที่มุ่งไปสู่การปลอดขยะในประเทศ จีนมีแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ส่วนแคนาดาใช้นโยบายไบโอดิจิทัล คอนเวอร์เจนซ์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบผสมผสานระหว่างระบบสิ่งมีชีวิตกับเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับประเทศไทยมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) และขนาดย่อม (MSME) ให้ใช้บีซีจีโมเดลนั้น เป็นหน้าที่ของภาคการผลิตสินค้าและบริการ ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะดูแล ด้านการตลาดและการค้า โดยจะแยกหมวดสินค้าและบริการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งในกลุ่มสินค้าแห่งอนาคต อาหารฟังก์ชัน (อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง) อาหารทางการแพทย์ อาหารออร์แกนิก สินค้าไลฟ์สไตล์ สมุนไพร และสินค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม การดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2565 ระหว่างเดือน ต.ค.64-มี.ค.65 มูลค่าการค้าในสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าตัว หรือ 3,800 ล้านบาท จาก 500 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2564

“หากสมาชิกเอเปกร่วมกันขับเคลื่อนบีซีจี โมเดลจะสามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆได้ทั้งสร้างและกระจายรายได้ให้กับเอสเอ็มอีและเอ็มเอสเอ็มอี เพราะมีการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายจุรินทร์กล่าวท้ายสุด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ