นักลงทุนคริปโตน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้-แห่ตามกระแส

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

นักลงทุนคริปโตน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้-แห่ตามกระแส

Date Time: 18 พ.ค. 2565 08:09 น.

Summary

  • ก.ล.ต.เปิดผลสำรวจพฤติกรรมลงทุนคนไทยต่อสินทรัพย์ดิจิทัล พบ 46% หวังเก็งกำไรระยะสั้น 33% หวังผลตอบแทนระยะยาว แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้มากนัก เป็นการลงทุนตามกระแส

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ก.ล.ต.เปิดผลสำรวจพฤติกรรมลงทุนคนไทยต่อสินทรัพย์ดิจิทัล พบ 46% หวังเก็งกำไรระยะสั้น 33% หวังผลตอบแทนระยะยาว แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้มากนัก เป็นการลงทุนตามกระแส ตามเพื่อน–อินฟลูเอนเซอร์–ยูทูบเบอร์ โดยคนรุ่นใหม่ตั้งแต่รุ่นเจน Y ลงมากล้าลงทุนมากกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่บทความของนายพงศธร ปริญญาวุฒิชัย ฝ่ายวิจัย ก.ล.ต.ที่ได้สรุปผลสำรวจพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัล หลังพบจำนวนบัญชีผู้ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเดือน ก.พ.65 โตมากกว่า 10 เท่าจากปี 63 (เพิ่มขึ้นจาก 170,000 บัญชี เป็น 2.5 ล้านบัญชี) โดยสำรวจและเก็บข้อมูลบนช่องทางโซเชียลมีเดียช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย.64 กว่า 300,000 ความคิดเห็น พบทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นแพลตฟอร์มที่มีการพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัลมากที่สุด อยู่ที่ 47% รองลงมาเป็นเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ 33% ผลสำรวจพบเป้าหมายการลงทุน ซึ่งสะท้อนแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยหันมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นพบว่า 46% มองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงจึงเลือกเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ขณะที่ 33% มองเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาว ขณะที่อีก 11% เห็นว่าเป็นแหล่งออมเงิน และ 10% มองว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถทำเงินได้ง่ายกว่างานประจำที่ทำอยู่ ส่วนหลักเกณฑ์การลงทุนส่วนใหญ่ 41% ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) เช่น การวิเคราะห์กราฟ อีก 26% ลงทุนโดยติดตามข่าวสารจากช่องทางต่างๆ และลงทุนโดยอาศัยสัญชาตญาณ 25%

นอกจากนั้นยังสำรวจจากคำที่ใช้ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลบนกูเกิล (google) เก็บข้อมูลย้อนหลัง 4 ปี พบว่า ระดับความสนใจในการค้นหาคำว่า “คริปโต” หรือ “คริปโต เคอร์เรนซี" เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปี 64 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาของ “บิทคอยน์” (BTC) ขึ้นไปแตะที่หลัก 1 ล้านบาท

รวมทั้งสำรวจโดยการสุ่มตั้งประเด็นคำถามความเห็นที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านโซเชียลมีเดีย สรุปได้ว่า หลายคนไม่แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หากไม่สามารถรับความเสี่ยงหรือความผันผวนได้ ควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ตนเองมีความเข้าใจมากกว่า แต่อาจซื้อเก็บไว้บางส่วนเพื่อใช้ในการเก็งกำไร หรือหากอยากลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีความเชื่อและศรัทธาด้วยว่าจะสามารถเปลี่ยนระบบการเงินของโลกได้ โดยมีความคิดเห็นทั้งในด้านบวกและด้านลบ เช่น ด้านบวกมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น จึงมีแนวโน้มเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอนาคต ด้านลบมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนราคาในตัวสินทรัพย์ ดังนั้นการเข้าไปลงทุนจึงเหมือนการโยนหัวก้อยที่ไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลทั้ง 3 วิธี สามารถสรุปความคิดเห็นและทัศนคติของคนไทยได้ว่า การฝากเงินกับธนาคารอาจไม่ปลอดภัยเสมอไป เพราะยังมีข่าวเงินฝากในบัญชีสูญหาย ประกอบกับดอกเบี้ยที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับการฝากเงินใน Decentralized Finance (DeFi) อย่างไรก็ดี ภาพรวมผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้ในสินทรัพย์ดิจิทัลมากนัก จึงมักลงทุนตามคำแนะนำของเพื่อน, ผู้มีอิทธิพลหรืออินฟลูเอนเซอร์, ยูทูบเบอร์ หรือกูรูที่เป็นคนดัง ส่วนช่วงอายุคนถือว่ามีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุน โดยคนรุ่นเก่าไม่ค่อยสนใจสินทรัพย์ดิจิทัล มองว่าความเสี่ยงสูง ไม่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้ ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ตั้งแต่รุ่นเจน Y ลงไป กล้าลงทุนมากกว่า

โดยกลุ่มผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มมือใหม่ เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาหาข้อมูล และควบคุมพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยงอยู่เสมอ 2.กลุ่มสายซิ่ง เป็นกลุ่มที่ไม่อยากศึกษาหาความรู้ เลือกที่จะลงทุนตามคนรอบข้างหรือผู้เชี่ยวชาญ ไม่ค่อยประเมินความเสี่ยง 3.กลุ่มย้ายพอร์ต เป็นกลุ่มที่เคยลงทุนในหุ้นมาก่อน และมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ