ท่อส่งน้ำภาคตะวันออก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ท่อส่งน้ำภาคตะวันออก

Date Time: 10 พ.ค. 2565 05:33 น.

Summary

  • เมื่อใดที่เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน นายกรัฐมนตรีตกเป็นเป้าโจมตี ถึงขั้นที่ ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เมื่อใดที่เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน นายกรัฐมนตรีตกเป็นเป้าโจมตี ถึงขั้นที่ ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เมื่อนั้นภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสัมปทานในโครงการของรัฐบาล ก็มักจะได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้าไปด้วย โครงการหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาขยี้ว่ามีการเปิดประมูลที่ไม่โปร่งใส และรีบร้อนลงนามในสัญญา ซึ่งจะถูกนำไปเป็นประเด็นในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ด้วย ก็คือ โครงการบริหารและดำเนินงานระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ของ กรมธนารักษ์ ซึ่ง บมจ.อีสท์ วอเตอร์ (จัดการ และพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก) เป็นผู้รับสัมปทานอยู่เดิม

ปูมหลังโครงการนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ กรมธนารักษ์ สมัย นายยุทธทนา หยิมการุณ เป็นอธิบดี ได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ จัดทำผลการศึกษาวิเคราะห์แนวทาง และกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนในการจัดให้เอกชนเช่า หรือบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกใหม่ เนื่องจากเห็นว่า ผลตอบแทนเดิมที่ได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ทำให้มีการเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนรายใหม่เข้าบริหาร และดำเนินงานโครงการนี้ เพื่อให้ทันต่อการรองรับความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคภายใต้โครงการระเบียง เศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลก่อนที่สัมปทานเดิมของอีทส์ วอเตอร์ จะสิ้นสุดลงในปลายปี 2566

ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 อธิบดีกรมธนารักษ์ ขณะนั้น ระบุว่า สัญญาให้เช่า และบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักจำนวน 3 โครงการที่ทำกับอีสท์ วอเตอร์ คือโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบังนั้น ได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำมาก

พิจารณาจากผลประกอบการ (ภาพประกอบที่ 2) ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ จะเห็นว่า อีสท์ วอเตอร์ มีกำไรเฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท แต่ในฝั่งของกรมธนารักษ์มีรายได้จากผลตอบแทนตลอด 23 ปีที่อีสท์ วอเตอร์ ให้ เป็นวงเงินรวม 526 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเพียงปีละ 21.94 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งแรกซึ่งมีผู้เข้าประมูล 5 ราย และ วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะ ด้วยข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทน 6,300 ล้านบาทเศษ ได้ถูกยกเลิกไป เพราะหลายฝ่ายตกใจว่า สัมปทานที่เคยให้อีสท์ วอเตอร์ ผูกขาดอยู่ และคิดว่าจะเป็นสัมปทานของตนตลอดไปนั้น ได้หลุดไปอยู่ในมือของผู้เสนอตัวเข้าไปบริหารงานรายใหม่ แม้การประมูลครั้งนั้น อีสท์ วอเตอร์ จะเสนอผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์เป็นเงินกว่า 3,700 ล้านบาท แต่ก็ยังแพ้ วงษ์สยามก่อสร้างอยู่ดี

เมื่อการประมูลครั้งที่สองมีขึ้น และจบลงในเดือน พ.ย.2564 วงษ์สยามก่อสร้างก็เป็นผู้ชนะอีกครั้ง ด้วยข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนตลอดสัญญา 30 ปี เป็นวงเงิน 25,693 ล้านบาท (ตารางที่ 1)

โดยผลตอบแทนที่กรมธนารักษ์จะได้คือ ค่าแรกเข้าทำสัญญา 580 ล้านบาท เงินวางหลักประกัน 118.9 ล้านบาท และผลตอบแทนปีแรก 44.64 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 743 ล้านบาท ยังไม่นับเงินที่กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของท่อส่งน้ำจะได้รับจากวงษ์สยามก่อสร้างอีก 870 ล้านบาท หลังการรับมอบท่อส่งน้ำหลักอย่างเป็นทางการ

จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สัญญาระหว่างกรมธนารักษ์กับวงษ์สยามก่อสร้างจะต้องเลื่อนการลงนามออกไปจากวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุเพราะมีนักการเมืองแห่มารุมกินโต๊ะมากมาย ทั้งยังขู่นายกรัฐมนตรีด้วยว่า จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากนายกรัฐมนตรียังขัดขืนปล่อยให้มีการลงนามสัญญานี้

เอาเถอะ ถ้าการเลื่อนออกไปนี้ ทำให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้คำตอบที่ชัดเจนว่าการประมูลโครงการนี้ถูกต้อง โปร่งใส และไม่ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้ฝ่ายใดอีก ก็น่าจะเป็นผลดีกับประเทศและทุกฝ่าย

แต่ก็ขอให้เร็วหน่อยก็แล้วกัน เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีการลงทุนใดๆที่เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้จากภาครัฐเลย.

แสงทิพย์ ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ