พาณิชย์เคาะแก้ปัญหาอาหารสัตว์ ผู้ผลิตจำใจยอมทำตาม ลั่นแก้ราคาแพงไม่ได้จริง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พาณิชย์เคาะแก้ปัญหาอาหารสัตว์ ผู้ผลิตจำใจยอมทำตาม ลั่นแก้ราคาแพงไม่ได้จริง

Date Time: 3 พ.ค. 2565 05:02 น.

Summary

  • “จุรินทร์” ชี้ผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แก้ปัญหาขาดแคลน ราคาแพง ทั้งยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 เพิ่มโควตานำเข้าภายใต้ดับบลิวทีโอเป็น 6 แสนตัน ภาษี 0% และเปิดให้นำเข้าจากแหล่งอื่น

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

“จุรินทร์” ชี้ผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แก้ปัญหาขาดแคลน ราคาแพง ทั้งยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 เพิ่มโควตานำเข้าภายใต้ดับบลิวทีโอเป็น 6 แสนตัน ภาษี 0% และเปิดให้นำเข้าจากแหล่งอื่น แต่แค่ 3 เดือน เสนอ ครม.ไฟเขียว ทันที ด้านผู้ผลิต ลั่น 3 เดือนสั้นไป ไม่ทำให้ราคาอาหารสัตว์ลดลงได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/65 เพื่อแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงและขาดแคลนว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ที่ประชุม 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ส่วนราชการ, เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง, สมาคมการค้าพืชไร่, สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ หมู และไก่เนื้อ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้เสนอมา เพื่อผ่อนคลายมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และดูแลปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ รวมถึงลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้ โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ได้ในเร็วๆนี้ คาดว่าน่าจะวันที่ 3 พ.ค.นี้

สำหรับประเด็นที่เห็นชอบได้แก่ 1.ยกเว้นเงื่อนไขเดิม คือ การนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนชั่วคราว ระหว่างเดือน พ.ค.-31 ก.ค.65 เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดแคลน 2.ผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ปัจจุบัน กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว ภาษีในโควตา 20% ปริมาณไม่เกิน 54,700 ตัน ผ่อนปรนเป็น ให้ อคส.และผู้นำเข้าทั่วไป เป็นผู้นำเข้าระหว่างเดือน พ.ค.-31 ก.ค.65 ภาษี 0% และเพิ่มปริมาณเป็น 600,000 ตัน

3.การนำเข้าช่องทางอื่น โดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาทางธุรกิจทางออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอในประเทศในช่วง 3 เดือนนี้ ครั้งแรกจะจัดวันที่ 3 พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลีผ่านทั้ง 3 ช่องทางจะต้องมีปริมาณรวมกันไม่เกิน 1.2 ล้านตัน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.-31 ก.ค. และให้มีเหลือเก็บสต๊อกไว้ใช้อีก 1 เดือน พร้อมกันนั้น ที่ประชุมยังมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วม 5 ฝ่าย เพื่อติดตาม ประเมินผลการดำเนินการทั้งหมด และสามารถเสนอให้ทบทวน หรือปรับปรุงมาตรการต่อไปได้เพื่อความเหมาะสม

“มาตรการทั้งหมดนี้จะช่วยแก้ปัญหาปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอ และไม่ขาดแคลน ซึ่งจากการประเมินตัวเลขพบว่า ในช่วง 3 เดือนนี้มีความต้องใช้ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ไม่เกิน 1.2 ล้านตัน จึงต้องเร่งรัดให้นำเข้าเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิต”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นมาก บางส่วนสูงกว่าราคาในประเทศ การปรับลดภาษี ก็เพื่อไม่ให้ต้นทุนนำเข้าสูงเกินไป แต่จะช่วยลดต้นทุนได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์จะจัดส่งให้กรมการค้าภายใน และกรมจะต้องนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และพิจารณาตามข้อเท็จจริง หากยังจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตยอมมีกำไรน้อยลง เช่น ถ้าเดิมมีกำไร 10% ก็ขอให้ เหลือแค่ 5% ได้หรือไม่ เพื่อให้ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ใช้อาหารสัตว์ไม่ต้องรับภาระต้นทุนมากจนเกินไป และจะได้ไม่ส่งผลต่อผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้”

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า มติที่ออกมา แม้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็ต้องยอม และทดลองดำเนินการก่อน เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นโดยเร็ว จากที่ก่อนหน้านี้การแก้ปัญหาล่าช้ามาหลายเดือน แต่เชื่อว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นมากได้จริง เพราะระยะเวลาที่ให้นำเข้าน้อยเกินไป เนื่องจากกว่าจะเริ่มต้นการจัดหา จัดซื้อ หาเรือขนส่งสินค้า และนำเข้า ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน อย่างน้อยควรให้ระยะเวลากว่า 6 เดือนถึง 1 ปี นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบทั้งข้าวโพด ข้าวสาลี รวมถึงมันเส้นในตลาดโลกสูงขึ้นมาก และสูงกว่าราคาในประเทศ อีกทั้งยังมีปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่ามาก และมีโอกาสแตะที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จึงยากที่จะทำให้ราคาอาหารสัตว์ไม่ปรับขึ้น

“มติที่ประชุมวันนี้ จริงๆยังไม่ได้ตามที่เราต้องการ ระยะเวลานำเข้า 3 เดือน เป็นไปไม่ได้ มัวแต่เอาเวลาไปเถียงกัน สุดท้ายก็ออกมาแบบนี้ ไม่รู้จะทำยังไง ต้องทดลองทำไปก่อน จากนี้อีก 1 เดือน หรือ 2 เดือนคงต้องกลับมาคุยกันอีก และราคาอาหารสัตว์ไม่น่าจะลดลงได้ อย่าฝืนความจริง เพราะราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปรับขึ้นมาก”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ