เปิดลายแทงก่อสร้างถนน 10 ปี “ทางเลี่ยงเมือง-วงแหวน” รับเศรษฐกิจฟื้นตัว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดลายแทงก่อสร้างถนน 10 ปี “ทางเลี่ยงเมือง-วงแหวน” รับเศรษฐกิจฟื้นตัว

Date Time: 28 เม.ย. 2565 05:01 น.

Summary

  • กรมทางหลวง เดินหน้าเต็มพิกัดก่อสร้างโครงข่ายถนนวงแหวน-ทางเลี่ยงเมืองกว่า 57 แห่งทั่วประเทศไทย ทำคลอดแอ็กชันแพลนระยะยาว 10 ปี ระหว่างปี 2568-2578

Latest

"อิ๊งค์" เร่งรับซื้อพลังงานสะอาด สั่งดูแลราคาพลังงานกระทบชีวิตประชาชน

กรมทางหลวง เดินหน้าเต็มพิกัดก่อสร้างโครงข่ายถนนวงแหวน-ทางเลี่ยงเมืองกว่า 57 แห่งทั่วประเทศไทย ทำคลอดแอ็กชันแพลนระยะยาว 10 ปี ระหว่างปี 2568-2578 ทั้งโครงการระยะสั้น กลาง ยาว รวม 25 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของเขตเมืองในจังหวัดหลักๆทั่วประเทศ ช่วยผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตยั่งยืน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน และเขตเมือง ภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆพื้นที่ของประเทศ ส่งผลทำให้โครงข่ายถนนทางหลวงเดิมที่มีอยู่กว่า 53,000 กิโลเมตร (กม.) ทั่วไทย และที่กระจายไปในพื้นที่ชุมชนต้องรองรับการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บางเส้นทาง หรือบางช่วงที่ต้องผ่านตัวชุมชน เขตเมืองจราจรติดขัด

ขณะที่กรมทางหลวงก่อสร้างขยายช่องจราจรเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนแบบเต็มเขตทางไปแล้ว ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถเพิ่มช่องจราจรได้อีก ขณะที่ความต้องการในการเดินทางยังสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง รวมถึงบางครั้งมีปัญหาอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ใช้ทางในชุมชนไม่ได้รับความปลอดภัย

แก้รถติดเขตชุมชน-รับขยายเมือง

“ปัจจัยดังกล่าว ทำให้กรมทางหลวงต้องวางแผนพัฒนาก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง-วงแหวนรอบนอกในจังหวัดหลักๆของประเทศที่มีอัตราการเติบโตปริมาณจราจรสูง เพื่อแยกปริมาณการจราจรที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางผ่านพื้นที่เมืองออกมา ซึ่งถนนทางเลี่ยงเมื่อทำแล้วจะช่วยลดจราจรติดขัด ลดปัญหาอุบัติเหตุ รวมถึงช่วยรองรับการกระจายความเจริญลงสู่ท้องถิ่น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”

ข้อดีของการก่อสร้างทางเลี่ยง หรือวงแหวนรอบนอกเขตเมือง ทำให้ไม่ต้องเดินทางผ่านชุมชน หรือเมือง แต่ข้อเสียอาจมีอยู่บ้างที่โครงการทางเลี่ยงเมืองใช้เวลาก่อสร้างที่นาน 6-10 ปี เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ขีดเส้นขึ้นมาใหม่ ต้องมีการเวนคืนที่ดิน

ทั้งนี้ การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองและถนนวงแหวน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีทางเลี่ยงเมืองและถนนวงแหวนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จทั่วประเทศ 50 แห่ง รวม 984.633 กม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 13 แห่ง ระยะทาง 281.024 กม., ภาคกลาง 13 แห่ง ระยะทาง 189.437 กม., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 17 แห่ง ระยะทาง 339.095 กม., ภาคใต้ 7 แห่ง ระยะทาง 175.077 กม.

เดินหน้าทางเลี่ยงเมืองเพิ่ม 7 แห่ง

ขณะที่ทางเลี่ยงเมืองและถนนวงแหวนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จปี 2566-2567 มีจำนวน 7 แห่ง ระยะทางรวม 145.525 กม. แบ่งเป็นโครงการในภาคเหนือ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง คือ ทางเลี่ยงเมืองเชียงของ จ.เชียงราย ระยะทาง 9.103 กม.วงเงินก่อสร้าง 1,044 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.2567 ภาคกลางอยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง คือ ทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันออก ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 117-บรรจบทางหลวงหมายเลข 225 ระยะทาง 20 กม. วงเงินก่อสร้าง 3,196 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2567

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง ระยะทางรวม 95.040 กม.ประกอบด้วย 1.วงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา วงเงินงบประมาณ 7,650 ล้านบาท แล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2566, 2.ทางเลี่ยงเมืองหนองคาย (ด้านตะวันออก) วงเงินงบประมาณ 2,893 ล้านบาท แล้วเสร็จในเดือน ส.ค.2566 และ 3.ทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ วงเงินงบประมาณ 1,714 ล้านบาท แล้วเสร็จเดือน มี.ค.2566

ภาคใต้ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 แห่ง ระยะทางรวม 21.382 กม. ประกอบด้วย 1.ทางเลี่ยงเมืองปัตตานี วงเงินงบประมาณ 1,851 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2567 และ 2.ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ด้านตะวันออก วงเงินงบประมาณ 569 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จ เดือน เม.ย.2566

เปิดแอ็กชันแพลน 10 ปีโครงข่ายอนาคต

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต นอกจากสร้างถนนเพิ่ม ขยายเลน บำรุงรักษาถนนที่มีอยู่แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญการพัฒนาทางเลี่ยงเมืองเป็นอันดับต้นๆ เพราะการพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง และวงแหวนรอบนอกเขตเมือง จะช่วยให้เกิดการขยายโครงข่ายถนนอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น จึงได้มีการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง (Action Plan) ระยะยาว 10 ปี ในปี 2568-2578 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณเขตเมือง แบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการทางเลี่ยงเมืองในอนาคตที่มีศักยภาพ โดยพิจารณาปัญหาการจราจร แนวโน้มการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แนวโน้มการพัฒนาเมือง โดยบูรณาการร่วมกับการวางผังเมือง หน่วยงานในท้องถิ่น และชุมชน ส่วนที่ 2 วิเคราะห์ความคุ้มค่า และจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมืองทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“แผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง และถนนวงแหวนในอนาคตระยะ 10 ปีที่วางไว้ จะกระจายสร้างทั่วไทย ซึ่งโครงข่ายมีทั้งแนวใหม่และเสริมโครงข่ายเดิมให้สมบูรณ์ 25 แห่ง ระยะทางรวม 484.05 กม. แบ่งเป็นภาคเหนือ 7 แห่ง ระยะทาง 116.6 กม., ภาคกลาง 4 แห่ง ระยะทาง 116.7 กม., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แห่ง ระยะทาง 119.6 กม., ภาคใต้ 7 แห่ง ระยะทาง 131.15 กม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ