หมูแพงอีกรอบ หลังต้นทุนค่าเลี้ยงเพิ่ม รัฐละเลยปล่อยไอ้โม่งลักลอบนำเข้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หมูแพงอีกรอบ หลังต้นทุนค่าเลี้ยงเพิ่ม รัฐละเลยปล่อยไอ้โม่งลักลอบนำเข้า

Date Time: 25 เม.ย. 2565 12:53 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • เนื้อหมูเตรียมแพงอีกรอบ ผู้เลี้ยงสุกรประสานเสียง ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าป้องกันโรค ASF วอนรัฐอย่าละเลยปล่อยไอ้โม่งลักลอบนำเข้าเนื้อหมู

Latest


เนื้อหมูเตรียมแพงอีกรอบ ผู้เลี้ยงสุกรประสานเสียง ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าป้องกันโรค ASF วอนรัฐอย่าละเลยปล่อยไอ้โม่งลักลอบนำเข้าเนื้อหมู ทำลายวงจรเกษตรกร-ผู้บริโภค-เศรษฐกิจชาติ

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 65 นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากปัญหา ASF โรคระบาดในสุกรที่พบในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังคงพบปัญหานี้บางพื้นที่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต่างระมัดระวังและบริหารความเสี่ยงด้วยการหยุดเลี้ยงสุกรไปก่อน

ส่วนในรายที่ยังคงเลี้ยงสุกรอยู่ต้องปรับวิธีการเลี้ยงและการจัดการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 300 บาทต่อตัว ซึ่งเกษตรกรยินดีแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดในฝูงสัตว์ของตนเอง แต่ก็ยังพบว่า มีขบวนการลักลอบ นำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนผิดกฎหมายจากหลายประเทศ เช่น เยอรมัน บราซิล แคนาดา อิตาลี เกาหลี เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา

โดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอื่น อาทิ เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเล นำมากระจายขายปะปนกับหมูไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะตลาดแถวนครปฐมและราชบุรี ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายเกษตรกรไทย ผู้บริโภค และเศรษฐกิจชาติ

"ในขณะที่ทุกคนในวงการเลี้ยงหมูต่างพยายามป้องกันโรค ASF และพยายามผลักดันให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เร็วที่สุด ทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน และทุกคนในแวดวงผู้เลี้ยงได้ช่วยกันในทุกด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรกลับเข้าสู่ระบบอย่างมั่นใจและรวดเร็ว แต่กลับมีไอ้โม่งที่ทำมาหาทำกินบนความทุกข์ของคนเลี้ยงหมูและคนไทย ขบวนการนี้ใช้วิกฤติเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง โดยไม่สนใจว่าเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้านั้น มีโรคหมูที่เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อระบบการเลี้ยงหมูของไทยอย่างไรบ้าง"

นอกจากนี้ เนื้อหมูที่นำเข้ามาแบบผิดกฎหมายยังปนเปื้อนสารอันตรายอย่างเช่นสารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารต้องห้ามและผิดกฎหมายไทย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ และยังก่อผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ที่สำคัญรัฐต้องสูญเสียรายได้จากสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีตามระบบ

เกษตรกรจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ เร่งสกัดกั้นและกวาดล้างขบวนการนี้ให้สิ้นซาก ถ้ายังปล่อยให้หมูเถื่อนลอยนวล คนเลี้ยงหมูก็ตายสนิท คนไทยก็ตายผ่อนส่ง เศรษฐกิจไทยย่ำแย่แน่นอน

นายสิทธิพันธ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันราคาสุกรยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 94-98 บาทต่อกิโลกรัม โดยการปรับราคาขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตและการบริโภคในแต่ละภูมิภาคเป็นตัวกำหนด ตามกลไกตลาดที่แท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรทั่วประเทศต่างร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ และคงระดับราคาไว้ไม่เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้ว่าจะมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากการปรับปรุงระบบการเลี้ยงและการป้องกันโรค

รวมถึงต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด ค่าไฟ ค่าพลังงานโดยเฉพาะค่าน้ำมันที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคา 30 บาทต่อลิตร ในวันที่ 1 พ.ค.65 ที่จะถึงนี้ และยังมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำใช้ ที่เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำใช้แล้วจากผลกระทบของภัยแล้ง รวมถึงอากาศร้อนและแปรปรวนส่งผลต่ออัตราสูญเสียในฟาร์มเลี้ยงที่สูงขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนสูงถึงกว่า 98 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานจึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร

ต้นทุนเลี้ยงหมูสูงเป็นประวัติการณ์ ขายขาดทุนก็ต้องยอม

ด้านนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกำลังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นถึง 98.81 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 94 - 98 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าเกษตรกรยังคงแบกรับภาระขาดทุน แต่ผู้เลี้ยงยังยืนหยัดสู้เพื่อรักษาอาชีพเดียวนี้ไว้และประคับประคองการผลิตสุกรต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค ทั้งที่ในภาคการเลี้ยงต่างได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนการเลี้ยงที่สูงมาก

จากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2563 และถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติสงครามในยูเครน ที่ผลักดันให้ธัญพืชอาหารสัตว์ทุกชนิดราคาเพิ่มขึ้น และกระทบกับปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย ทั้งยังมีปัญหาสภาพอากาศร้อนแล้งและอากาศแปรปรวนที่ส่งผลต่อผลผลิต ทำให้มีอัตราเสียหายเพิ่มขึ้น สุกรโตช้า จำนวนสุกรจับออกน้อยลง ต้นทุนการเลี้ยงจึงสูงขึ้น และยังต้องซื้อน้ำสำหรับใช้ในฟาร์มในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย

"ราคาหมูเนื้อแดงในตลาดสดขณะนี้ประมาณ 160-180 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับทุกฝ่าย ทั้งผู้เลี้ยง ผู้ขายหน้าเขียง และผู้บริโภค ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภูมิภาคต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือกับห้างค้าปลีก-ค้าส่ง จำหน่ายหมูเนื้อแดงในราคา 154-155 บาทต่อกิโลกรัม เป็นทางเลือกและช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง"

ขณะเดียวกัน ทั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เกษตรกร และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ต่างร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ ด้วยการซื้อข้าวโพดภายในประเทศ แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงทั่วโลก

ที่ผ่านมาเกษตรกรก็ยังคงช่วยกันประคับประคองราคาหน้าฟาร์มไม่ให้เกินกิโลกรัมละ 100 บาทมาโดยตลอด หากเปรียบเทียบราคาหมูของไทยแล้ว ยังถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาที่ราคาขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 100 กว่าบาทแล้ว ตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริงจากปริมาณหมูที่ไม่เพียงพอกับการบริโภค

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงจากปัญหาโรคระบาดเมื่อช่วงก่อนหน้า ผู้เลี้ยงที่มีระบบการป้องกันโรคที่ไม่ดีพอก็จะเสียหายมาก และกว่าจะกลับมาเลี้ยงรอบใหม่ได้ต้องใช้เวลาอีก 6-12 เดือน รายที่ยังสามารถเลี้ยงต่อไปได้ ก็เพราะให้ความสำคัญกับการยกระดับด้านการป้องกันโรคและระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐาน

ทั้งเกษตรกรรายเล็กและรายกลาง ที่ปรับสู่มาตรฐาน GFM รวมถึงผู้ประกอบการและบริษัทเอกชน ที่ใช้มาตรฐาน GAP ตามที่กรมปศุสัตว์ผลักดัน ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ยังคงมีกลุ่มผู้เลี้ยงที่หลากหลาย ทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่

นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงยังปรับตัวกับสถานการณ์ ด้วยการเลี้ยงสุกรใหญ่ขึ้น จากปกติสุกรขุนจับออกจำหน่ายที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม เป็น 110-120 กิโลกรัม ทำให้ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาก็ต้องจับออก ไม่มีการกักหมูไว้เพื่อเก็งกำไร เพราะนั่นคือต้นทุนการผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน

"ขอให้ผู้บริโภคเข้าใจภาระที่เกษตรกรต้องแบกรับ การบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยที่ 19 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือราว 1 กิโลกรัมกว่าๆ ต่อเดือนนั้น ทำให้ค่าครองชีพในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่บาท แต่กลับช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรได้มีแรงทำอาชีพนี้ต่อ ไม่ต้องเลิกเลี้ยงไปจนหมด ซึ่งจะกระทบกับความมั่นคงอาหารของประเทศอย่างแน่นอน"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์