ลีลาเปิบข้าวเหนียวมะม่วงของแร็ปเปอร์สาว “Milli” บนเวทีงานเทศกาลดนตรีระดับโลก Coachella ทำให้กระแส Soft Power ถูกนำกลับมาพูดถึงหนาหูอีกครั้ง คู่ขนานไปกับอาการตีฆ้องร้องป่าวนโยบายสนับสนุน Soft Power ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อยกระดับสถานะและอิทธิพลของประเทศไทยในเวทีสากล
ณ วันนี้ Soft Power หรือที่แปลตรงตัวว่า “อำนาจอ่อน” คืออาวุธทรงพลานุภาพแห่งโลกยุคใหม่ มันคือเครื่องมือที่ใช้สร้างความเสน่หา แรงดึงดูด อิทธิพลทางความคิดของประเทศใดประเทศหนึ่งต่อพลเมืองโลก แทนการใช้กำลังทหาร ความรุนแรงเพื่อให้เกิดความคิดคล้อยตาม
กระนั้น การสร้างแบรนด์ดิ้งของประเทศผ่าน Soft Power มิได้ครอบคลุมเฉพาะมิติของศิลปะ วัฒนธรรม ผ่านอาหารอย่างข้าวเหนียวมะม่วง มาม่าเกาหลี หรือซูชิญี่ปุ่นเท่านั้น อ้างอิงจาก Brand Finance บริษัทสัญชาติอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดมูลค่าแบรนด์ ซึ่งริเริ่มการคำนวณดัชนี Global Soft Power Index ผ่านการสำรวจความคิดเห็นประชากรโลกมากกว่า 100,000 คนใน 120 ประเทศ จากปัจจัยหลากหลาย ได้แก่ ความคุ้นเคยต่อประเทศนั้น (Familiarity) ชื่อเสียง (Reputation) ความมีอิทธิพล (Influence) รวมทั้งการรับมือกับสถานการณ์โควิด โดยพิจารณาภายใต้ขอบเขต 7 หัวข้อ ได้แก่ 1.ธุรกิจ-การค้า (Business&Trade) 2.รัฐบาล (Governance) 3.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) 4.วัฒนธรรมและมรดก (Culture &Heritage) 5. สื่อและการสื่อสาร (Media & Communication) 6.การศึกษาและวิทยา ศาสตร์ (Education & Science) 7.ผู้คนและคุณค่า (People and Values)
ในการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 ปีล่าสุด ปรากฏว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อปีก่อนหน้าอยู่ในอันดับ 6 ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 แทนที่เยอรมนี ซึ่งร่วงลงไปอยู่อันดับ 3 ด้วยคะแนนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 70.7 จาก 55.9 มีน้ำหนักสำคัญอยู่ที่การระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเข้ามารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแทนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีภาพลักษณ์เผด็จการ บ้าอำนาจ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังทำคะแนนด้านความปลอดภัย (หมวดรัฐบาล) และความเป็นมิตรของผู้คน (หมวดผู้คนและคุณค่า) ได้ต่ำ เนื่องจากปัญหาความรุนแรงและเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ส่วนอันดับ 2 ปีนี้ตกเป็นของอังกฤษ ขยับจากอันดับ 3 ปีก่อนหน้า ด้วยภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นหลังออกจากประเทศสมาชิกภาพอียู ทำให้การเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพชัดเจน รวมทั้งการบริหารจัดการโควิดที่ให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เป็นประเทศแรกๆ ของโลก ส่วนเยอรมนีซึ่งตกจากอันดับ 1 ไป 3 เหตุผลส่วนใหญ่มาจากการก้าวลงจากตำแหน่งของอังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 16 ปีและได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ผลงานของเธอมีส่วนสำคัญยิ่ง ที่ทำให้เยอรมนีก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา
ส่วนอันดับ 4 ปีนี้ ตำแหน่งเป็นของจีนซึ่งสามารถแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นปีแรกจากอันดับ 8 เมื่อปีก่อน ทำให้ 4 ประเทศทรงอิทธิพลสูงสุดด้าน Soft Power ของปี 2565 ล้วนเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิดรายหลักของโลก นับเป็นความสำเร็จที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีจุดแข็งเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการประกาศนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และการให้ความช่วยเหลือด้านโควิดแก่ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ 6 อันดับในท็อป 10 ที่เหลือ ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย และอิตาลี โดยสำหรับรัสเซียนั้น แม้ขยับขึ้นจากอันดับ 13 ปีก่อนสู่อันดับ 9 ด้วยคะแนนรวมจาก 50.5 เป็น 56.1 แต่คะแนนด้านชื่อเสียง (Reputation) ลดลง 19% หลังทำสงครามกับยูเครนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเปิดศึก โดยผลสำรวจพบพลเมืองโลกในประเทศส่วนใหญ่ตำหนิรัสเซีย ขณะที่พลเมืองส่วนใหญ่ของ 2 ประเทศคืออินเดียและจีน ตำหนิสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลประกาศให้ความสำคัญกับนโยบายผลักดันการสร้างอิทธิพลด้าน Soft Power สู่เวทีโลกมาระยะหนึ่งแล้ว ทำอันดับลดลงจาก 33 สู่ 35 แต่ได้คะแนนรวมเพิ่มขึ้น 1.5 คะแนนเป็น 40.2 โดยทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า ตำแหน่งที่ลดลงเนื่องจากมีประเทศเข้าร่วมพิจารณามากขึ้น แต่ได้อันดับ 35 จาก 120 ประเทศถือว่าอยู่ในระดับสูง
ส่วนประเทศในเอเชียอื่นๆ เช่น สิงคโปร์คงที่อยู่ในอันดับที่ 20 สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่เกาหลีใต้ ซึ่งขยายอาณานิคม Soft Power ผ่านวัฒนธรรมเคป๊อบ เคมูฟวี่ เคซีรีส์มากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หล่นจาก 11 มาอยู่ที่อันดับ 12 ปีนี้ เพราะนอกจากมิติด้านวัฒนธรรมแล้ว อิทธิพลทางความคิดยังสามารถถ่ายทอดผ่านมิติอื่นๆ ที่ประกอบเข้ากันเป็นประเทศมหาอำนาจยุคใหม่ โดยเฉพาะในบริบทของวิสัยทัศน์ผู้นำ.
ศุภิกา ยิ้มละมัย