รัฐผุด “อีอีซีไอ” คิดค้นเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนนำไทยสู่การเป็นประเทศพัฒนาใน 7 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รัฐผุด “อีอีซีไอ” คิดค้นเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนนำไทยสู่การเป็นประเทศพัฒนาใน 7 ปี

Date Time: 7 เม.ย. 2565 06:47 น.

Summary

  • เปิดโฉมเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) จังหวัดระยอง พื้นที่คิดค้นวิจัยเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นของประเทศไทยโดยเฉพาะ จุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและการเกษตรของไทย

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เปิดโฉมเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) จังหวัดระยอง พื้นที่คิดค้นวิจัยเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นของประเทศไทยโดยเฉพาะ จุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและการเกษตรของไทยครั้งใหญ่ ที่จะทำให้ไทย ก้าวไปสู่ประเทศพัฒนา ภายใน 7 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การผลักดันประเทศไทยจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศพัฒนา จะต้องทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจขยายตัว 5% จากปีนี้ต่อเนื่องไปอีก 7 ปี พร้อมๆกับการพัฒนาให้ประเทศไทยสามารถมีเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทยเอง เห็นได้จากการศึกษาข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์ แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุตรงกันว่า การส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นประเทศพัฒนา จำเป็นที่ประเทศนั้นๆ ต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง เช่น เกาหลีใต้มีซัมซุง เยอรมนีมีรถยนต์โฟล์กสวาเกน และรถยนต์เมอร์เซเดส เบนซ์

เหตุผลที่ไทยต้องมี “อีอีซีไอ”

ดังนั้น ตอนร่างแผนที่จะดำเนินการให้เกิดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อ 4 ปีก่อน ต้องการผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาให้ได้ ซึ่งการทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จึงเป็นเหตุผลที่ต้องสร้างให้เกิดเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เป็น 1 ใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษที่อยู่ภายในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยเกิดวงจรใหม่ นำไปสู่การเจริญเติบโตแบบมีพลวัต (Dynamic Growth) ซึ่งจะแตกต่างจากการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีก่อน ที่ประเทศไทยต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีของประเทศอื่น ดึงการลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงาน โดยใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น แต่ไทยไม่สามารถมีเทคโนโลยีของตัวเองได้

“เป้าหมายการทำงานของอีอีซีไอ ถูกกำหนดให้พัฒนาเทคโนโลยี ให้กับภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เพราะภาคเกษตรของไทยเกือบไม่มีคนดูแลเรื่องเทคโนโลยีเลย โดยขณะนี้ได้เดินหน้าให้เกิดอีอีซีไอแล้ว เพราะหากอีอีซีไอไม่เกิด การเจริญเติบโตแบบมีพลวัตของประเทศก็ไม่เกิดเช่นกัน เพราะการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 5% ไปได้เรื่อยๆ จะต้องทำให้มีธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำให้รายได้เฉลี่ยของคนไทยขึ้นไปอยู่ที่ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือประมาณ 495,000 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้น การทำให้เป็นจริงได้ตามเป้าหมาย ในช่วง 7 ปีนับจากนี้ต้องมีการปรับประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีครั้งใหญ่อย่างเต็มที่ตลอด 7 ปี”

เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของอีอีซีไอคือการสร้างเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่นำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรเพื่อให้เกิดการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต โดยเม็ดเงินที่อีอีซีไอคิดค้นเทคโนโลยีจะต้องเกิดการร่วมลงทุนของภาคเอกชน 5 เท่า และเกิดผลประโยชน์ 200 เท่า วางเป้าหมายเงินลงทุนในพื้นที่นี้ไว้ 287,586 ล้านบาท ที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่รองรับการค้าและการลงทุนนวัตกรรมด้านชีวภาพ

ลุยพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

นายเจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) กล่าวว่า อีอีซีไอจะเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนานวัตกรรมต้นแบบสู่การขยายผลเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร โดยรัฐบาลเช่าที่ของวังจันทร์ วัลเลย์ จ.ระยอง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีพื้นที่ 3,454 ไร่

ภายในพื้นที่ของอีอีซีไอ ปตท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและถนนให้ ขณะที่มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการโครงการ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2562- 2567 วงเงิน 5,755 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้างอีอีซีไอ 1,323 ล้านบาท ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมฐานชีวภาพ (Biopolis) วงเงิน 3,005 ล้านบาท ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (Aripolis) วงเงิน 1,152 ล้านบาท และทางกรมวิทยาศาสตร์บริการจะดำเนินการก่อสร้างมาตรฐาน การทดสอบและสนามทดสอบรถอัตโนมัติ EV AV วงเงิน 275 ล้านบาท

ขณะนี้ก่อสร้างกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่อีอีซีไอภายนอกเสร็จแล้ว 100% มีเพียงการปรับภูมิทัศน์และติดตั้งครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นพื้นที่สำหรับทำการวิจัยขยายผล และมีพื้นที่สนับสนุนการทำงาน เช่น ศูนย์แสดงนิทรรศการ Co-Working Space 40,000 ตารางเมตร พร้อมดำเนินการในเดือน มิ.ย.นี้ และพร้อมเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.นี้ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในอีอีซีที่สนับสนุน การจัดประชุมผู้นำเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

ศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรมฐานชีวภาพ

ทั้งนี้ อาคารสำนักงานใหญ่จะรองรับโครงการสำคัญ ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับการทำวิจัยขยายผล เช่น โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ศูนย์นวัตกรรมการผลิต ยั่งยืน (SMC) ขณะที่ในปี 2566 จะเปิดให้บริการศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมฐานชีวภาพ (BIOPOLIS) ประกอบด้วยการจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอไฟเนอรี่ เพื่อเป็นโรงกลั่นชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบจากผลผลิตและของเหลือทางการเกษตร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง และวัสดุชีวภาพ และทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อชุมชนและอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมกันนี้มีแผนการลงทุนโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ปลอดภัยเพื่อความมั่นคงและทางเลือกใหม่

“ในระหว่างนี้อีอีซีไอได้เริ่มต้นถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ ที่ สวทช.ได้คิดค้นให้กับเกษตรกรและชุมชน เช่น การตรวจวัดอากาศด้วยเซ็นเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการติดตามสภาพแวดล้อม การผลิตก้อนเชื้อสตาบิวเวอเรีย สำหรับกำจัดศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย เทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และล่าสุดได้นำงานวิจัยถุงห่อทุเรียน Magik Growth สู่ต้นแบบสวนทุเรียนพรีเมียมเพื่อการส่งออก โดยทุเรียนที่ห่อด้วยถุงนี้จะมีรสชาติหวานอร่อยและเปลือกบาง จากต้นทุนราคาถุงละ 50 บาท ได้ลดลงเหลือ 20 บาท เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองสั่งทำ 1 ล้านถุง และเชื่อว่าราคาจะลดลงกว่านี้เมื่อมีการใช้อย่างแพร่หลาย”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ