กยศ.เตรียมเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้นักเรียนนักศึกษา 6 แสนราย รับปีการศึกษา 65 พร้อมสั่งชะลอฟ้อง 1 ปีคนผิดนัดชำระหนี้ ช่วยผู้ปกครอง ลูกหนี้ รับเศรษฐกิจฝืด ค่าครองชีพแพง กู้ไม่ต้องมีคนค้ำ
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ปีการศึกษา 65 กยศ.เตรียมวงเงินสำหรับให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท รองรับได้ไม่ต่ำกว่า 600,000 คน เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้มีแหล่งทุนนำไปใช้ศึกษาเล่าเรียน และใช้จ่ายในการดำรงชีพ อย่างไรก็ตาม หากมีความต้องการมากกว่านี้ กยศ.ก็พร้อมปล่อยกู้เพิ่มได้อีก โดยจะใช้เงินสภาพคล่องของกองทุนฯ ไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล
“กยศ.เปิดให้ยื่นกู้ปีการศึกษาใหม่แล้ว ภาพรวมการปล่อยกู้ แม้จะมีเด็กเกิดใหม่ และผู้เข้าเรียนลดลง แต่ กยศ.ยังตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ใกล้เคียงปีก่อน เพราะมีผู้ปกครองไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโควิด และค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงเตรียมวงเงินไว้ใกล้เคียงปีก่อน และพร้อมเพิ่มวงเงินได้อีก ส่วนการชำระหนี้ ในปี 65 ตั้งเป้าหมายมียอดชำระไม่ต่ำกว่า 32,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะมาจากการหักชำระบัญชีเงินเดือน”
สำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ กยศ.ได้ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปีนี้ รวมถึงงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนฯได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ เพื่อแบ่งเบาภาระผู้กู้ยืมด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในการเปิดให้ลูกหนี้มีการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนทางการศาล ซึ่งจะช่วยให้ตลอดปีนี้ ยอดการฟ้องร้องดำเนินคดีลดลงเหลือเพียงหลักพันราย จากปกติเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย รวมถึงอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย ให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีได้ด้วย โดยปัจจุบัน กยศ.มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 80,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้กู้ยืม 2 ล้านราย
นายชัยณรงค์กล่าวอีกว่า ในปีนี้ กยศ.ยังได้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนฯ สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ ขณะเดียวกัน ยังขยายหลักเกณฑ์การกู้ยืมเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาขอกู้ได้เพิ่มขึ้น โดยเปิดให้นักเรียนระดับอาชีวศึกษา และนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการสืบทอดอัตลักษณ์ของชาติ หรือวิชาที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ช่างทองหลวง ศิลปหัตถกรรมโบราณคดี ดนตรีไทย เป็นต้น เข้ามากู้ยืมกับ กยศ.ได้โดยตรง
นอกจากนี้ได้เปิดให้นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ กู้ยืมเงินในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโท โดยมีหลักสูตรนำร่องในสาขาวิชาที่ตอบสนอง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น รวมทั้งสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย
“ในปีนี้ กยศ.จะเปิดให้กู้ยืมเงินครบ 4 ลักษณะตามที่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 กำหนดไว้ เพราะเดิม กยศ.จะให้กู้ยืมเพียง 2 ลักษณะ คือ 1.นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และ 2.นักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่ต่อไปจะเพิ่มการให้กู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และนักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศด้วย”.