ท่องเที่ยวไทยยังโคม่าหนัก ต่างชาติมาน้อย สทท.จี้ปลดล็อกประเทศเต็มที่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ท่องเที่ยวไทยยังโคม่าหนัก ต่างชาติมาน้อย สทท.จี้ปลดล็อกประเทศเต็มที่

Date Time: 29 มี.ค. 2565 06:49 น.

Summary

  • สทท. เผยท่องเที่ยวยังอยู่ในห้อง “ไอซียู” เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อย ชี้ทางรอดต้องมี 16 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท จี้รัฐเร่งปลดล็อกเงื่อนไขเข้าประเทศเต็มที่

Latest

บิ๊กแบรนด์อสังหาฯ ท็อปฟอร์ม สวนตลาด โกยรายได้แสนล้าน 9 เดือน กำไรพุ่ง 1.7 หมื่นล้าน

สทท.เผยท่องเที่ยวยังอยู่ในห้อง “ไอซียู” เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อย ชี้ทางรอดต้องมี 16 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท จี้รัฐเร่งปลดล็อกเงื่อนไขเข้าประเทศเต็มที่ ด้าน ททท.ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เร่งจ่ายเงิน “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ค้างจ่ายเกือบ 300 ล้านบาท คาดไม่เกิน 60 วันได้ครบทุกราย

น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 1/65 ว่า เท่ากับ 44 สะท้อนการท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากที่สุด แม้ดีกว่าช่วงเดียวกันปี 64 แต่ยังต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา และยังอยู่ในห้องไอซียูเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนและมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาซ้ำเติม ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเกือบ 40% ต้นทุนเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์ในการจับจ่าย และการท่องเที่ยวในประเทศชะลอตัว อย่างไรก็ตาม 89% ของสถานประกอบการเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งใกล้เคียงภาวะปกติ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่มาก

“ไตรมาสนี้เริ่มลดพนักงานและไตรมาสหน้าจะลดเพิ่มขึ้นอีกหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น โรงแรม/ที่พัก เปิดทำการปกติ 88% อัตราเข้าพักเฉลี่ย 30% โดย 95% ของโรงแรม/ที่พัก มีรายได้ไม่ถึงครึ่งของปกติ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาด ส่วนใหญ่เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการ RT-PCR ในการเดินทางเข้าประเทศ”

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ประเทศท่องเที่ยวทั้งในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และเอเชีย เปิดต้อนรับชาวต่างชาติแล้ว และใช้นโยบายสร้างความสะดวกในการเดินทาง (Ease-of-Traveling) ผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกประเทศจนเกือบกลับสู่ภาวะปกติ สำหรับไทยขอให้เปิดประเทศเต็มที่ เพราะท่องเที่ยวแก้ปัญหาความยากจนได้เร็วและลึกที่สุด กระจายรายได้ตั้งแต่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง เกษตร อาหาร สุขภาพ ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และชุมชนในท้องถิ่น หากภาคท่องเที่ยวกลับมา ความเป็นอยู่ของคนไทยจะดีขึ้นทันที

“ถ้าถามว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเท่าใด รายได้เท่าใด ภาคการท่องเที่ยวถึงจะอยู่ได้ คำตอบคือ 40% ของปี 62 เป้าหมายของ สทท.คือผลักดันให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16 ล้านคน คนไทยเที่ยวไทย 75 ล้านคน/ครั้ง เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.2 ล้านล้านบาทให้ได้ และรายได้นี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานและจ่ายภาษีนับแสนล้านบาท”

ส่วนนายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการ Smart Tourism สทท.กล่าวว่า เสนอให้รัฐดำเนินการ ดังนี้ 1.Ease-of-Traveling ยกเลิกไทยแลนด์พาส ยกเลิกตรวจ RT-PCR (Day 0) เมื่อเดินทางถึงไทย โดยอาจยังคงมีการตรวจ ATK 1 ครั้ง 2.จัดตั้งกองทุนฟื้นฟู เพื่อพัฒนา Supply-side เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยีการตลาด และสินค้า-บริการ และเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ 3.ส่งเสริมการตลาดเชิงลึกทุกมิติ หากรัฐปรับนโยบายท่องเที่ยวเป็นเชิงรุกเต็มตัว จะมีโอกาสเพิ่มรายได้จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 520,000 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 1.2 ล้านล้านบาทได้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบกรณีที่ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับเงินสนับสนุนโครงการเราเที่ยวด้วยกันล่าช้า พบว่าเป็นเพราะ ททท. ตรวจสอบรายการที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ เพื่อให้การเบิกจ่ายถูกต้องและป้องกันทุจริต ขณะนี้มีรายการค้างจ่าย 5.24% ของทั้งหมด 5,336 ล้านบาท คิดเป็นเงินค้างจ่าย 279 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีรายการคงค้างในระบบที่ได้รับข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย เพื่อตรวจสอบก่อนจ่ายเงิน คือ 1.รายการจองใช้สิทธิ์ที่เกินกว่า 5 สิทธิ์ 35,354 รายการ 2.สแกนใบหน้าหรือสแกนใบหน้าไม่สำเร็จ 18,639 รายการ อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการที่รับอี-วอชเชอร์ ในการซื้อสินค้าและบริการเช่นเดียวกับกรณีที่พัก ซึ่งได้รับข้อมูลจากกรุงไทย เพื่อตรวจสอบก่อนจ่ายเงิน 26,727 รายการ ส่วนค่าตั๋วเครื่องบิน หลังกรุงไทยตรวจสอบแล้วจะส่งข้อมูลให้ ททท.เบิกจ่ายต่อไปมีทั้งหมด 1,096 รายการ “ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ตรวจสอบ รายการค้างจ่าย ทั้งหมดไม่เกิน 60 วันน่าจะเบิกจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้ครบทุกรายการที่ค้าง”.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ