สงครามรัสเซีย–ยูเครนดันราคาน้ำมันโลกพุ่งลิ่ว ป่วนราคาน้ำมันประเทศขึ้นตาม นายกฯเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชน หาทางลดราคาเบนซิน เน้นช่วยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่ากลุ่มโอเปกยังมีมติตามข้อตกลงเดิมคือเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ พุ่งไปแตะระดับ 116 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสก็พุ่งทะลุที่ระดับ 113 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 8 เหรียญฯ เมื่อก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2557
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวทำให้เมื่อเช้าวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทผู้ค้าน้ำมันเอกชนได้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ อาทิ บริษัท เชลล์ ประเทศไทย จำกัด ปรับ ราคาขึ้นลิตรละ 1.60-2.00 บาท ต่อมาในช่วงเย็นวันเดียวกัน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ และบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้แจ้งปรับราคาน้ำมันทุกชนิด มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.2565 โดยขึ้นราคาดีเซลอีกลิตรละ 20 สตางค์ และเบนซินขึ้นราคาอีกลิตรละ 60 สตางค์
ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการสั่งการเรื่องสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบกับประชาชน ก่อนหน้านี้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปแล้ว นายกฯได้สั่งการเพิ่มเติมให้เร่งจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันเบนซิน โดยจะให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่ 13.45 ล้านคน โดยให้กระทรวงการคลังไปสรุปมาตรการแล้วนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็ว ส่วนจะได้ลดราคาน้ำมันในสัดส่วนเท่าไหร่ และจะให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกลุ่มใดบ้าง เช่น อาจจะให้กับกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยมากๆ หรือกลุ่มอาชีพที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เนื่องจากยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และความตึงเครียดในยุโรปซึ่งส่งผลให้พลังงานราคาสูงขึ้น จึงสั่งการให้คณะ ที่ปรึกษาเร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา แบ่งเบาภาระประชาชนทุกคนเห็นผลโดยเร็วที่สุด ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก คือ 1.หาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่าย ดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า 2.การบรรเทาภาระหนี้สิน และ 3.การลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจ FTI Poll หรือ ส.อ.ท.โพล ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี)-เอ็นจีวี กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน” พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า กรณีรัฐบาลจะมีการปรับ ขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัติโนมัติ (เอฟที), แอลพีจี, เอ็นจีวี จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิต ที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน จึงเสนอขอให้รัฐบาลตรึงค่าเอฟที รอบเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้
ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนว่า แนวโน้มสถานการณ์อาจยืดเยื้อ ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อไทยและทั่วโลกเป็นอย่างมากในด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากค่าระวางเรือจะสูงขึ้นมาก ล่าสุด สายเรือขนส่งสินค้าเส้นทางต่างๆ งดรับการจอง (booking) เรือขนส่งสินค้าในเส้นทางรัสเซีย-ยูเครนแล้ว
อีกทั้งบริษัทประกันภัยไม่รับประกันการขนส่งสินค้าในเส้นทางดังกล่าว ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องพิจารณาใช้เส้นทางทางบกหรือระบบราง และต้องขนส่งผ่านประเทศอื่นๆ เพื่อเข้าไปยังรัสเซียและยูเครนแทน.