ประมูลคลื่นวิทยุภูธรเดือด นครศรี-เชียงใหม่-สุราษฎร์แข่งปรอทแตก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ประมูลคลื่นวิทยุภูธรเดือด นครศรี-เชียงใหม่-สุราษฎร์แข่งปรอทแตก

Date Time: 22 ก.พ. 2565 06:10 น.

Summary

  • เวทีประมูลคลื่นวิทยุครั้งแรกของไทยเดือด คลื่นภูธรแข่งดุทำประมูลยืดเยื้อ ดีเลย์ 6 ชั่วโมง รายได้จากการประมูล 30 คลื่นแรก ทะลุ 600 ล้านบาทไปแล้ว จากเป้าหมาย 71 คลื่น ทำเงิน 500 ล้านบาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เวทีประมูลคลื่นวิทยุครั้งแรกของไทยเดือด คลื่นภูธรแข่งดุทำประมูลยืดเยื้อ ดีเลย์ 6 ชั่วโมง รายได้จากการประมูล 30 คลื่นแรก ทะลุ 600 ล้านบาทไปแล้ว จากเป้าหมาย 71 คลื่น ทำเงิน 500 ล้านบาท เปิด 3 คลื่นภูธรเคาะเลือดสาด นครศรีธรรมราชเริ่มต้น 9 แสน จบ 28 ล้าน ตามมาด้วยเชียงใหม่และสุราษฎร์ธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประมูลคลื่นวิทยุในระบบเอฟเอ็มครั้งแรกของประเทศไทย จำนวน 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่น ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่น ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่น และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่น ด้วยจำนวนผู้เข้าประมูล 30 บริษัท

สำหรับราคาเริ่มต้นประมูลสูงสุดอยู่ที่ 54.83 ล้านบาท เป็นคลื่นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนคลื่นที่ให้บริการในเขตภูมิภาค ราคาเริ่มต้นต่ำสุดคือ 105,000 บาท ส่วนการเคาะราคาเพิ่มแต่ละครั้งอยู่ที่ สูงสุดคือ 500,000 บาท และต่ำสุดคือ 4,000 บาท เบื้องต้น กสทช.คาดว่าจะมีรายได้จากการประมูลไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.ด้านกระจายเสียง กล่าวว่า การแข่งขันประมูลคลื่นวิทยุในภาพรวมกระจุกอยู่ในคลื่นต่างจังหวัด สะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นสำหรับคลื่นภูธรอาจต่ำเกินไป ขณะที่ความต้องการมีสูง ทำให้เห็นการแข่งขันที่รุนแรงในจังหวัดที่คาดไม่ถึง เช่น สิงห์บุรี ตราด จันทบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่วนคลื่นในกรุงเทพฯถูกตั้งราคาเริ่มต้นสูง เพราะมีข้อมูลให้ประเมินราคาที่หลากหลายกว่า ซึ่งพอราคาตั้งต้นค่อนข้างสูง ทำให้ไม่มีการแข่งขันด้านราคา

“การประมูลครั้งนี้เราไม่ได้เน้นที่การหารายได้เข้ารัฐเป็นอันดับแรก เรานำบทเรียนที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัลเข้ามาศึกษาด้วย ซึ่งการเคาะราคาตั้งต้นต่ำช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก เข้าแข่งขันได้ เห็นได้จากผู้ประมูลคลื่นภูธรที่มี อสมท เป็นหน่วยงานภาครัฐรายใหญ่เพียงรายเดียว นอกนั้นเป็นการแข่งขันระหว่างเอกชน”

สำหรับ 8 คลื่นในเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ 95, 96.5, 98.5, 99, 100.5, 105.5, 106.5 และ 107 MHz โดยมีผู้เข้าประมูลเพียงคลื่นละ 1 ราย จึงไม่มีการแข่งขัน โดยคลื่นมูลค่าสูงสุดคือ 106.5 MHz (คลื่นรายการกรีนเวฟของแกรมมี่) แกรมมี่เข้าประมูลรายเดียว เพื่อรักษาสิทธิ์ออกอากาศ คว้าชัยไปในราคา 55.33 ล้านบาท รองลงมาเป็น 95 MHz ราคา 50.59 ล้านบาท และ 96.5 MHz ราคา 50.44 ล้านบาท ทั้ง 2 คลื่นตกเป็นของ อสมท เจ้าของคลื่นเดิมเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ เวลา 18.00 น. การประมูล 4 รอบที่เดิมถูกกำหนดไว้ว่าจะเริ่มต้นเวลา 08.30-16.30 น. ยืดเยื้อไปมาก โดย ณ 18.00 น. การประมูลเพิ่งเสร็จสิ้นไป 2 รอบ ประมูลคลื่นเสร็จสิ้นไป 30 คลื่น จากคลื่นที่นำออกประมูล 71 คลื่น ทำรายได้ 603 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาท และเกินกว่าราคาตั้งต้นของ 30 คลื่น ที่ 397 ล้านบาท

พ.อ.นที กล่าวว่า การแข่งขันที่รุนแรงของคลื่นภูธร ทำให้การประมูลยืดเยื้อ ไม่เป็นไปตามกำหนด คาดว่าจะล่าช้ากว่า 6 ชั่วโมง การแข่งขันเคาะราคาในคลื่นต่างจังหวัดสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจวิทยุเป็นธุรกิจสื่อที่เข้าถึงคนในพื้นที่และผู้ประกอบการเห็นถึงศักยภาพ ไม่เช่นนั้นคงไม่เคาะราคาแข่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คลื่นต่างจังหวัดที่มีราคาประมูลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คลื่น 104.50 MHz นครศรีธรรมราช ราคาเริ่มต้น 942,000 บาท ขยับไปปิดที่ 28.02 ล้านบาท คลื่น 100.75 MHz เชียงใหม่ ราคาเริ่มต้น 2.2 ล้านบาท พุ่งไปเป็น 19.8 ล้านบาท และคลื่น 102 MHz สุราษฎร์ธานี ราคาเริ่มต้น 105,000 บาท ทะยานเป็น 14.6 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ