สำนักงานสถิติแห่งชาติโชว์ตัวเลขจำนวนคนว่างงานเมื่อไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาพบ มีจำนวน 630,000 คน ดีขึ้นจากไตรมาส 3 แต่ยังน่าห่วงผู้เสมือนการว่างงานมีมากถึง 2.6 ล้านคน ลุ้นระทึก ปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือ ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ชี้โควิด–19 ทำโครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยนไป
นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะการณ์ทำงานของประชากร ไตรมาส 4 ปี 2564 (ต.ค.-ธ.ค.) ว่า โควิด-19 ได้ทำโครงสร้างตลาดแรงงานไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้ประกอบการลดการจ้างแรงงานลง และเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น, แรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงาน โดยไม่มีรายได้หรือลดรายได้ จากการลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน, แรงงานที่จบการศึกษาใหม่ๆ มีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น
ทั้งนี้ โครงสร้างกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 57.2 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ที่มี 37.7 ล้านคน ผู้ไม่มีงานทำ 630,000 คน จากไตรมาส 3 ที่มี 870,000 คน และเป็นผู้รอฤดูกาล 100,000 คน ซึ่งสถานการณ์การว่างงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และผู้ว่างงาน 62% เป็นการว่างงานระยะกลาง และเป็นการว่างงานของเยาวชนมากที่สุด ซึ่งในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมา 380,000 คน และไม่เคยทำงานมาก่อน 250,000 คน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ ที่ในแต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับ 300,000 คน
“ต้องจับตามองการว่างงานระยะยาว หรือตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนระดับปัญหา การว่างงานของประชากร โดยไตรมาส 4 อัตราการว่างงานระยะยาว ในสัดส่วนที่สูง คือ 0.4% ขณะที่ไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.2% และข้อมูลชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่การว่างงานระยะยาว เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี รองลงมา คือ อายุ 25-34 ปี”
นอกจากนี้ มีผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ที่มีงานทำภาคเกษตรกรรม 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกลุ่มผู้ที่มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เรียกว่า ผู้เสมือนว่างงาน โดยไตรมาส 4 มีจำนวน 2.6 ล้านคน เพิ่มจากไตรมาส 3 จำนวน 260,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาชีพในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ว่างงานในอนาคตได้
สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 หลังจากมาตรการด้านโควิด-19 ของรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายขึ้น แรงงานมีงานทำมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับเข้ามาสู่ภาคการบริการและการค้า ภาคการผลิต อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 66.3% ส่วนใหญ่ทำงาน ในภาคการบริการและการค้า 45.1% รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต 33.2% และ 21.6% ตามลำดับ ขณะที่อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตร ป่าไม้ ประมง เป็นกลุ่มอาชีพที่มีอัตราการมีงานทำมากที่สุด รองลงมาคือ พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า
“ระหว่างไตรมาส พบว่า จำนวนผู้มีงานทำ ภาคการบริการและการค้า ภาคการผลิตไตรมาส 3 และ 4 ปี มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น คือ 1.3% และ 0.6% ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีการเปลี่ยนแปลงของผู้มีงานทำลดลง 0.7% และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 พบว่า ผู้มีงานทำในภาคการบริการและการค้า ภาคการผลิต มีอัตราเปลี่ยนแปลงผู้มีงานทำลดลง 1.2% และ 4.0% ตามลำดับ ขณะที่ผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น”.