คาดผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าได้แค่ 1-2 เดือน วอนรัฐลดค่าครองชีพประชาชนด่วน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คาดผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าได้แค่ 1-2 เดือน วอนรัฐลดค่าครองชีพประชาชนด่วน

Date Time: 7 ก.พ. 2565 15:57 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • ส.อ.ท. เผยผลสำรวจ CEO Survey ประเมินภาวะราคาสินค้าแพงอย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปี 65 ขณะที่ผู้ประกอบการจะตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1 – 2 เดือนเท่านั้น วอนรัฐเพิ่มมาตรการลดค่าครองชีพ

Latest


ส.อ.ท.เผยผลสำรวจ CEO Survey ประเมินภาวะราคาสินค้าแพงอย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปี 65 ขณะที่ผู้ประกอบการจะตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1 – 2 เดือนเท่านั้น วอนรัฐเพิ่มมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 65 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 14 ในเดือนก.พ. 65 ภายใต้หัวข้อ สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ และคาดว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานไป อย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1 – 2 เดือนเท่านั้น

ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง รวมทั้ง ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในช่วงนี้ นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 2–4 %

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. หรือ CEO Survey จำนวน 150 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 14 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้

1. ปัจจัยใดส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้

อันดับที่ 1 : ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 76.7%
อันดับที่ 2 : ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 74.0%
อันดับที่ 3 : ค่าขนส่งที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง 63.3%
อันดับที่ 4 : ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น 51.3%

2. ภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานแค่ไหน

อันดับที่ 1 : 3 - 6 เดือน 35.3%
อันดับที่ 2 : 6 - 12 เดือน 34.7%
อันดับที่ 3 : มากกว่า 1 ปี 30.0%

3. มาตรการใดมีประสิทธิภาพในการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

อันดับที่ 1 : ลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง 75.3%
อันดับที่ 2 : ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ 74.7%
อันดับที่ 3 : ตรึงราคาน้ำมัน ไม่ให้มีผลต่อต้นทุนสินค้า 66.0%
อันดับที่ 4 : มาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพ เช่น คนละครึ่ง 59.3%

4. ภาคเอกชนจะช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นได้นานเท่าไร

อันดับที่ 1 : 1 - 2 เดือน 40.0%
อันดับที่ 2 : 3 - 4 เดือน 30.7%
อันดับที่ 3 : มากกว่า 6 เดือน 16.7%
อันดับที่ 4 : 5 - 6 เดือน 12.6%

5. เอกชนควรปรับตัวรับมือกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวอย่างไร

อันดับที่ 1 : นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 77.3%
อันดับที่ 2 : นำระบบบริหารจัดการมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เช่น LEAN, ไคเซ็น 61.3%
อันดับที่ 3 : ปรับกลยุทธ์เน้นตลาดต่างประเทศ และการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ 54.0%
อันดับที่ 4 : เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ 50.0%

6. อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะอยู่ในระดับใด

อันดับที่ 1 : เพิ่มขึ้น 2-4 % 58.0%
อันดับที่ 2 : เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% 23.3%
อันดับที่ 3 : เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2% 18.7%


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ