ศักดิ์สยาม ย้ำการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม จะเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ศักดิ์สยาม ย้ำการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม จะเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทย

Date Time: 20 ม.ค. 2565 12:42 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ศักดิ์สยาม ย้ำการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม จะเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทย มั่นใจหลังโควิดซา การเดินทางทุกรูปแบบจะกลับมาคึกคัก

Latest


ศักดิ์สยาม ย้ำการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม จะเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทย มั่นใจหลังโควิดซา การเดินทางทุกรูปแบบจะกลับมาคึกคัก

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายในงานสัมมนา THAILAND FUTURE SMART & SUSTAINABLE MOBILITY ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ที่จัดขึ้นโดยไทยรัฐกรุ๊ป และกระทรวงคมนาคม ว่า ผมได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มาทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาระบบขนส่งภายในประเทศ

โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งการลงทุนในโครงการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาสาธารณูปโภคที่สำคัญ แม้ปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ว่าโครงการต่างๆ ของคมนาคมไม่ได้หยุด หรือมีการชะงักการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงข่ายสำคัญที่จะเชื่อมโยงการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรสำคัญเศรษฐกิจของไทยนั้นมีทั้งภาคการท่องเที่ยว แน่นอนว่าตอนนี้ยังได้รับผลกระทบจากโควิด เรื่องของการลงทุนภาคเอกชนก็ชะลอตัวจากโควิดเช่นกัน ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โครงการเหล่านี้ ผมและคนในกระทรวงคมนาคม พยายามดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีของนายกฯ ที่เริ่มปี 2558 และเสร็จสิ้นปี 2578

อย่างไรก็ตาม โครงการขนส่งต่างๆ ภายในประเทศนี้ เราลงทุนเพื่อรองรับหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งทิศทางของการระบาดของโรคนั้นเริ่มมีสัญญาณในทางบวก และคลี่คลายมากขึ้น

"โจทย์สำคัญของเราคือ ต้องเพิ่มความสะดวกสบายในทุกการเดินทางไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางบก ทางราง ทางอากาศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งโครงการไหนที่สามารถดำเนินการได้เราก็เร่งดำเนินการในทันที แต่โครงการไหนที่เป็นการต่อเนื่อง เราก็จะศึกษาข้อมูลเอาไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาเราก็พร้อมที่จะลงทุนในทันที"

ทั้งนี้ เราได้พัฒนาการขนส่งทั้ง 4 มิติ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย รวมถึงเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน

สำหรับการพัฒนาระบบรางนั้น ผมและกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ ซึ่งรถไฟฟ้าทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มี 14 สาย 554 กิโลเมตร สามารถเปิดดำเนินการแล้ว 11 สายทาง รวมระยะทาง 212 กิโลเมตรเกือบ 50% ของแผนแม่บท

นอกจากนี้เรายังได้พัฒนารถไฟทางคู่ครอบคลุมทั้งประเทศ รถไฟความเร็วสูงไทยจีน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการสร้างสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางที่สะดวกในประเทศไทย ที่เชื่อมการเดินทางในประเทศ และภูมิภาคอาเซียน

ส่วนการพัฒนาระบบน้ำนั้น เรามีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ที่จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขนส่งของประเทศ

การพัฒนาทางอากาศนั้นเราได้พัฒนาสนามบินต่างๆ เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวในอนาคตหลังหมดโควิด โดยผลการศึกษาของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IRTA ประเมินว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความพร้อมรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะกลับมาในระดับประมาณ 65 ล้านคนต่อปี เท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ได้ในปี 68

นอกจากนี้ IATA คาดการณ์ไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางอันดับ 9 ของโลก โดยจะมีผู้โดยสารเข้ามาในไทยถึง 200 ล้านคน นั่นหมายถึงเราต้องมีสนามบินที่ดีและทันสมัยรองรับผู้เดินทางทั่วโลกที่จะเดินทางมาประเทศไทย

สำหรับการพัฒนาขนส่งทางบก หรือถนนนั้น เราได้เชื่อมโยงเส้นทางสำคัญๆ ของประเทศเอาไว้ เรามีถนนโครงข่ายในประเทศ 9 แสนกิโลเมตร แต่ที่กระทรวงคมนาคมดูแลอยู่นั้นประมาณ 4 แสนกิโลเมตร

โดยกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษเป็นผู้ดูแล สำหรับโครงการที่เราเร่งทำคือ การสร้างถนนพิเศษระหว่างทางเมืองบางปะอินไปโคราช ภายในปีนี้จะสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ปี 66 จะได้ใช้ถนนเส้นนี้ หรือ M6 อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการเร่งรัดถนนระหว่างเมืองพิเศษสายบางใหญ่ และกาญจนบุรี คาดว่าปี 65 น่าจะแล้วเสร็จ และในปี 66 น่าจะได้ใช้

"เราเชื่อว่าการพัฒนาระบบการขนส่งนี้จะสร้างความสะดวกให้กับคนไทยทั้งประเทศ และทุกคนจะเข้าถึงในราคาที่ไม่แพง ซึ่งเราได้คำนวณอัตราค่าบริการด้วยการนำความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง".


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ