หมู ไก่ ไข่แพง ร้านอาหาร ชาบู หมูกระทะ ขอขึ้นราคา เพราะแบกต้นทุนไม่ไหว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หมู ไก่ ไข่แพง ร้านอาหาร ชาบู หมูกระทะ ขอขึ้นราคา เพราะแบกต้นทุนไม่ไหว

Date Time: 10 ม.ค. 2565 13:33 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • หมู ไก่ ไข่ พาเหรดขึ้นราคา พ่อค้าแม่ค้าร้านอาหาร ชาบู หมูกระทะ แบกต้นทุนไม่ไหว ขอขึ้นราคา 5-30 บาท

Latest


หมู ไก่ ไข่ พาเหรดขึ้นราคา พ่อค้าแม่ค้าร้านอาหาร ชาบู หมูกระทะ แบกต้นทุนไม่ไหว ขอขึ้นราคา 5-30 บาท

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 จากสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดได้ทยอยปรับราคาขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นราคาหมู ราคาไก่ ราคาไข่ไก่ สินค้าเกษตรต่างๆ เช่น พริก รวมไปถึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ที่กำลังจะปรับราคาขึ้นแบบบันได จากเดิมที่คุมราคาไว้ที่ระดับ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ก.พ. 65 นี้ ส่งผลให้เจ้าของร้านอาหาร ชาบู หมูกระทะ ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่งได้ขอปรับราคาขายเพิ่มขึ้น 5-30 บาท

ทั้งนี้ เจ๊จง หรือ จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง และข้าวแกงที่ขึ้นชื่อเรื่องราคาไม่แพง ได้ติดป้ายแจ้งลูกค้าขอปรับราคาอาหาร ขยับขึ้นเมนูละ 3-4 บาท ซึ่งเจ๊จง บอกว่า เหตุที่ต้องขอปรับราคา เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบทุกอย่างขยับปรับราคาขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะเนื้อหมูสด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของทางร้านที่ต้องใช้ถึง 200-300 กิโลกรัมต่อวัน แค่เฉพาะสาขาคลองเตย อาหารบางเมนูบางตัวก็ต้องใช้วิธีลดปริมาณลง เพื่อให้เราอยู่ได้ และลูกค้าก็อยู่ได้ แต่ก็ได้แจ้งทางลูกค้าทุกครั้งที่มีการปรับราคาหรือปริมาณ

ขณะที่ร้าน คอหมูพระราม5 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเมนูจากหมูเป็นไก่แทนหลายเมนู ร้านสุกี้ตี๋น้อย ได้ปรับราคาบุฟเฟต์ผู้ใหญ่ จาก 199 บาท เป็น 219 บาท ส่วนราคาเด็กจาก 99 บาท เป็น 109 บาท โมโม่ พาราไดซ์ ได้ปรับราคาบุฟเฟต์ชุดผู้ใหญ่เริ่มต้น 560 บาท ปรับเป็นเริ่มต้น 599 บาท ส่วนชุดเด็กเดิมเริ่มต้น 279 บาท ปรับเป็น 299 บาท

ส่วน จริยา เอี่ยมละออ อายุ 47 ปี เจ้าของร้านครัวลงพุง ที่ชัยนาท กล่าวว่า ที่ร้านได้ปิดประกาศ "เลิกขายเมนูหมู จนกว่าราคาหมูจะลดลง" นั้นเพราะก่อนหน้านี้ได้เพิ่มราคาเมนูที่ทำจากหมูจานละ 10 บาท ทำให้ลูกค้าก็หันไปกินเมนูพวกไก่ กุ้ง เป็ด และปลาหมึกแทน เพราะไม่อยากจ่ายเพิ่ม 10 บาท จึงทำให้ต้องขึ้นป้ายทันทีว่าเลิกขายเมนูหมู

ทั้งนี้ที่ร้านจำเป็นต้องยกเลิกขายเมนูหมู เพราะสู้ราคาไม่ไหว ไม่คุ้มค่าเหนื่อย โดยเฉพาะหมูกรอบ แค่วิธีทำก็ยาก ต้องใช้เวลาแล้ว ปกติก็ได้กำไรไม่มาก แต่ถ้าขายราคาเดิมแล้วเท่าทุนไม่เหลือกำไร จึงตัดสนใจเลิกขายไปก่อนดีกว่า ปกติจะขายอาหารตามสั่งจานละ 30 บาท แต่ถ้ามาขาย 40 บาท แล้วได้ปริมาณเดิม ลูกค้าเลยเลี่ยงไปกินอย่างอื่นหมด ถ้าหมูยังแพงแบบนี้ก็คงเลิกขายไปถาวร

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่นๆ ทดแทน ซึ่งจะผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืชก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นจากราคาเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ และวัตถุดิบอาหารที่สำคัญอื่นๆ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น น่าจะกดดันให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคต่อคนต่อเดือนในปี 2565 เพิ่มขึ้นราว 8-10% ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่ก็เริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าเดินทาง เป็นต้น สวนทางกับรายได้ครัวเรือนที่ยังคงเปราะบาง ซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อครัวเรือนที่น่าจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ