นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 63-64 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ได้ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หายไป 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่จีดีพีในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หายไป 170,000 ล้านบาท โดยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3 ของปี 64 มาแล้ว ขณะที่การฟื้นตัวจะเป็นในรูปของ K-shape ซึ่งเป็นการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน โดยสถานการณ์ที่ผ่านมาได้ทำให้รายได้จากเงินเดือน ค่าจ้างหายไป 1.9 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนของคนไทยเพิ่มขึ้นใกล้ 100% ของจีดีพี โดยกลุ่มบริการท่องเที่ยว และแรงงานได้รับผลกระทบสูงสุด ส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแม้มีการเปิดประเทศ
“การดำเนินงานในอีอีซี ระหว่างปี 61-64 ที่ก้าวสู่ปีที่ 4 สามารถดึงเงินลงทุนแล้ว 1.7 ล้านล้าน ถึงแม้ใน 2 ปีหลังจะได้รับผลกระทบจากโควิด แต่อีอีซีได้อนุมัติลงทุนแล้ว 1.7 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 80% และภาครัฐ 20% มีการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 924,734 ล้านบาท และบูรณาการเชิงพื้นที่ประมาณ 82,000 ล้านบาท ขณะที่ความสำเร็จของอีอีซีที่ได้ผลักดันการลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน (PPP) ลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เงินไทย ใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย ร่วมสร้างประเทศไทย รวมวงเงิน 654,921 ล้านบาท โดยในไตรมาส 1 ปี 65 นี้ ทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง จะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ตามแผนทั้งหมด จะเป็นปีที่ก้าวสู่ปีเสือทอง”
นายคณิศกล่าวว่า ปี 65 อีอีซีจะเร่งสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ขับเคลื่อนแผนลงทุนระยะ 2 อีอีซี (ปี 65-69) ตั้งเป้าเกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จากการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท โดยจะให้ความสำคัญกับระบบการขนส่งสาธารณะที่เป็นระบบราง ทั้งรถไฟความเร็วสูงและระบบรางที่เชื่อมการขนส่งเข้าถึงนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ นอกจากนี้ จะเกิดการพลิกโฉมการศึกษาพัฒนาทักษะบุคลากรโดยเฉพาะด้านดิจิทัล ที่จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ รายได้มั่นคง โดยปี 72 อีอีซีตั้งเป้าหมายสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงจากฐานราก ให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จากการที่มีการลงทุนในประเทศปีละ 600,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการลงทุนในพื้นที่อีอีซีปีละ 400,000 ล้านบาท เชื่อว่าไทยจะก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชุมชนในมิติต่างๆต่อเนื่อง.