นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์การส่งออกไทยปี 65 โดยพบว่า มูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ 262,991-275,074 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 0.2-4.8% จากปี 64 ที่คาดขยายตัวได้ 13.3% ภายใต้สมมติฐาน 2 กรณีคือ หากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดรุนแรงตลอดปี 65 จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยติดลบ 1.3% ถึงบวก 1.6% โดยมีค่ากลางที่ 0.2% มูลค่า 262,991 ล้านเหรียญฯ ซึ่งโอกาสเป็นไปได้อยู่ที่ 30% แต่ถ้าโอมิครอนไม่รุนแรงมาก การระบาดคลี่คลายได้เร็วมูลค่าส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 3.2-6.3% ค่ากลางอยู่ที่ 4.8% มูลค่า 275,074 ล้านเหรียญฯ ซึ่งมีความเป็นได้มากถึง 70%
ทั้งนี้ มีปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยปัจจัยบวก ได้แก่ เศรษฐกิจโลก และคู่ค้ายังฟื้นตัวต่อเนื่อง ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องคาดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32-33 บาท/เหรียญฯ, การฉีดวัคซีนที่มากขึ้นในแต่ละประเทศ ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในตลาดสำคัญ และแนวโน้มความต้องการสินค้าสุขภาพและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ การระบาดของโอมิครอน ที่คาดว่าจะทำให้การส่งออกไทยในไตรมาส 1 หรือ 2 ติดลบ 1% ถึงลบ 2% มูลค่าหายไปไตรมาสละ 639-1,279 ล้านเหรียญ หรือ 20,000-40,000 ล้านบาท, ราคาน้ำมันปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 เหรียญฯ/บาร์เรล จากปี 64 ที่ 64-65 เหรียญฯ/บาร์เรล, การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่คาดว่าปี 65 ไทยยังขาดแคลนตู้อยู่ราว 150,000 ตู้ทีอียู (ขนาด 20 ฟุต) ส่งผลให้การขนส่งล่าช้า ขาดแคลนวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น รวมทั้งค่าระวางเรือสูงขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ โอมิครอนที่ยังมีความไม่แน่นอน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและพันธมิตร กับจีน, ผลของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.65.