ชี้ชัดกล่องสุ่มผิดกฎหมาย สคบ.ขยับคุมเข้มเน็ตไอดอลอย่าหาทำ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชี้ชัดกล่องสุ่มผิดกฎหมาย สคบ.ขยับคุมเข้มเน็ตไอดอลอย่าหาทำ

Date Time: 6 ธ.ค. 2564 06:10 น.

Summary

  • เน็ตไอดอลฟังทางนี้! สคบ.เตรียมควบคุมการขายสินค้าประเภท “กล่องสุ่ม” ที่กำลังเป็นที่นิยมในช่องทางออนไลน์ ชี้ทั้งผิดกฎหมายการพนัน ขณะที่สินค้าในกล่องไม่มีฉลาก และไม่ระบุราคา

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

เน็ตไอดอลฟังทางนี้! สคบ.เตรียมควบคุมการขายสินค้าประเภท “กล่องสุ่ม” ที่กำลังเป็นที่นิยมในช่องทางออนไลน์ ชี้ทั้งผิดกฎหมายการพนัน ขณะที่สินค้าในกล่องไม่มีฉลาก และไม่ระบุราคา ผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาของ สคบ. เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง เพื่อมาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่องทางออนไลน์ และมักมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งเน็ตไอดอล ยูทูบเปอร์ หรือดารานักร้องมารีวิว และโฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้จะกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆให้ชัดเจน เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมด้วย

ทั้งนี้ สคบ. มองว่า ปัญหาสำคัญสำหรับการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรก อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน ที่ดูแลโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หากไม่ได้ทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือไม่ผ่านการตรวจสอบ ส่วนประเด็นที่สองเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพราะการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอาง หรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ

“ตามสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานต้องรู้ว่าสินค้านั้นมีอะไรก่อนจึงจะตัดสินใจซื้อ แต่การเอาของมาใส่ในกล่องโดยไม่มีข้อมูล เป็นกล่องสุ่ม บางทีผู้โฆษณาสินค้าอาจบอกว่ากล่องนี้เอาโทรศัพท์ไอโฟนมาเป็นสิ่งจูงใจ โดยมีกล่องสุ่ม 400-500 กล่อง แต่มีไอโฟนแค่กล่องเดียวอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งในการพิจารณากฎหมายมาควบคุมนั้น สคบ.จะพิจารณาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งจะขยายผลไปถึงการดูแลเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าในรูปแบบไลฟ์สด รีวิว ควรจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวง และเท่าทันกับยุคดิจิทัลด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สคบ. เคยแจ้งเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา เพราะเห็นว่าการนำสินค้าดังกล่าวมาขายให้ผู้บริโภคในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับสินค้า หรืออาจได้รับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าเงินที่จ่ายไปได้ ซึ่งการกระทำการดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงด้วย

ดังนั้น จึงขอเตือนให้ผู้บริโภค หรือผู้ปกครองได้รับทราบ หากเห็นบุตรหลานของตัวเองมีการซื้อของดังกล่าวก็ต้องแจ้งเตือนให้ระวัง เพราะอาจจะทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุ อย่างในกรณีล่าสุดมีการขายกล่องสุ่มราคาเป็นหลักแสนบาท และมียอดขายเป็นหลัก 100 ล้านบาทในช่วงเวลาแค่เวลาไม่กี่นาที และอาจนำไปสู่การลอกเลียนแบบจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าหนี้ “พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ได้ออกมาขาย “กล่อมสุ่มพิมรี่พาย” กล่องละ 100,000 บาท ใช้เวลาเพียง 10 นาที มีจองเข้ามา 100 ล้านบาท เมื่อลูกค้าที่จองซื้อเมื่อเปิดกล่องออกมา บางรายได้รับทองคำ และที่สร้างความฮืออาและเป็นที่พูดถึงคือมีผู้โชคดีได้รับรถยนต์ซูซูกิ ป้ายแดง ราคาเริ่มต้น 328,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีแม่ค้าออนไลน์บางรายขายกล่องสุ่มอาหารทะเล บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ในราคา 499-1,890 บาท ปัจจุบันเป็นกระแสนิยมในตลาดออนไลน์เป็นอย่างมาก แต่ก็มีผู้บริโภคบางรายที่ซื้อสินค้ามาแล้ว ออกมาร้องเรียนว่า สินค้าไม่ตรงปก และถูกเอาเปรียบ พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแล.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ