ก.ล.ต.-บช.ก. ยกระดับการทำงานเชิงรุกร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล หลังจากนักลงทุนแห่กันไปลงทุน เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ขณะที่ ธปท. ออกโรงเตือนการชำระค่าสินค้าและบริการหวั่นระบบการเงินล่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประชุมร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ และนายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารสายบังคับใช้กฎหมาย ร่วมประชุมกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) และ พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร ผู้กำกับการ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผกก.3 บก.ปอศ.) เพื่อหารือถึงแนวทางการประสานงานในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อกัน
โดยจะเริ่มทำงานเชิงรุกร่วมกันในกรณีที่อาจเข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่การซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมากในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ บช.ก. โดย ปอศ. พร้อมให้การสนับสนุนด้านการติดตามผู้ถูกกล่าวหาที่หลบหนีเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือและร่วมปฏิบัติงานกับ ก.ล.ต. โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการปฏิบัติงาน รวมถึงการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีร่วมกัน จะทำให้เกิดประสิทธิภาพต่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการกระทำผิด ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งรูปแบบของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ล้วนเป็นช่องทางของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ด้านนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงและมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนให้ได้รับความเสียหาย หากมีการชำระค่าสินค้าและบริการแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้.