มองแง่ดีโต 0.7% ปีนี้ได้สบาย ธปท.จับตาโอมิครอน-วัตถุดิบขาด-น้ำมันแพง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

มองแง่ดีโต 0.7% ปีนี้ได้สบาย ธปท.จับตาโอมิครอน-วัตถุดิบขาด-น้ำมันแพง

Date Time: 1 ธ.ค. 2564 06:46 น.

Summary

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค. และข้อมูลเร็วเดือน พ.ย.มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค. และข้อมูลเร็วเดือน พ.ย.มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยลดวันกักตัวลง การส่งออกขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการซื้อในต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศ และการผลิตปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนในเดือน ต.ค.ชะลอลง

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ธปท.ยังคงจับตาความเสี่ยงใน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ความเร็วในการระบาด และผลกระทบจากการใช้มาตรการดูแลการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า รัฐบาลแต่ละประเทศจะใช้มาตรการเข้มข้นมากแค่ไหน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลกระทบของโอมิครอน แต่มองว่า ในปีนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ทำให้ไม่กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีนี้มากนัก โดยอัตราการขยายตัวที่ 0.7% ในปีนี้คิดว่าน่าจะทำได้ และภาพรวมอาจจะสูงขึ้นกว่านี้ได้เล็กน้อย

สำหรับความเสี่ยงที่ 2 ที่ ธปท.จับตาคือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต โดยเฉพาะเซมิคอน ดักเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ ที่จะกระทบต่อการส่งออกในช่วงต่อไป ขณะที่ความเสี่ยงที่ 3 ที่ต้องจับตาคือ ราคาน้ำมันดิบโลกและวัตถุดิบบางประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยในการประชุมนโยบายการเงิน ธปท.ปลายเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งจะประเมินผลกระทบจากโอมิครอนอีกครั้ง

“ในส่วนที่มีความเป็นห่วงการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ หลังจากที่ในเดือน ต.ค.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 2.38% นั้น ธปท.ยังมองว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวเกิดขึ้นจากราคาพลังงานเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว และจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นไตรมาสแรกของปีหน้า ขณะเดียวกัน จากการติดตามผลกระทบของเงินเฟ้อต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าพบว่า ในประเทศผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้ามากนัก เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศยังเปราะบาง ไม่สามารถที่จะรับการปรับราคาสินค้าได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ