ทางออกในภาวะขาดดุลการคลัง อีอีซีชูความสำเร็จ ใช้เงินรัฐ 5% ดึงเอกชนลงทุน 95%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทางออกในภาวะขาดดุลการคลัง อีอีซีชูความสำเร็จ ใช้เงินรัฐ 5% ดึงเอกชนลงทุน 95%

Date Time: 20 พ.ย. 2564 05:45 น.

Summary

  • สกพอ.ได้จัดเตรียมการจัดทำแผนงานบูรณาการงบประมาณในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยในงานเสวนา “เปิดความสำเร็จการเป็นต้นแบบแผนงานบูรณาการ สู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน” ว่า สกพอ.ได้จัดเตรียมการจัดทำแผนงานบูรณาการงบประมาณในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท และผลักดันให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) จังหวัดในพื้นที่อีอีซีขยายตัวได้ 6.3% ต่อปี คุณภาพชีวิตและรายได้ประชาชนในพื้นที่ต้องดีขึ้น มีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 30,000 ตำแหน่งต่อปี

“ภาพข้างหน้าไม่สวยหรูเนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด แต่สามารถทำงานได้ โดยต้องบูรณาการงบประมาณของรัฐ เพื่อดึงให้เอกชนลงทุน เช่น ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในปี 2561-2564 มีการลงทุนที่ได้อนุมัติแล้วในอีอีซี 1.6 ล้านล้านบาท โดยมาจากการบูรณาการงบรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 82,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.1% ของการลงทุนที่ได้อนุมัติ หมายความว่า เราใช้งบประมาณของรัฐเป็นส่วนน้อยเพื่อดึงการลงทุนอีก 95% จากภาคเอกชน เฉพาะงบของ สกพอ.มีเพียง 2,304 ล้านบาท หรือ 0.1%ของการลงทุนที่อนุมัติแล้วในอีอีซี”

นายคณิศ กล่าวว่า หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบ 6.1% เท่ากับรายได้ประชาชาติหายไป 2 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลต้องกู้เงินมาแก้ปัญหาโควิด 1.5 ล้านล้านบาท รวมแล้วผลกระทบจากโควิด-19 เกินกว่า 3 ล้านล้านบาท ปีนี้แม้จะเริ่มทำงานได้พอสมควรเศรษฐกิจคงขยายตัว 2% และถ้าในปี 2565 ไม่มีปัญหาคงขยายได้ 4% ขณะที่แนวโน้มขาดดุลการคลังมีมากขึ้น รายได้ของรัฐไม่พอรายจ่าย ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้ารายได้จากภาษีอากรคงไม่ฟื้นตัวเร็ว โดยรัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะต้องกู้เงินที่ทำให้เกิดหนี้สาธารณะมากขึ้น แม้ในวันนี้หนี้สาธารณะยังไม่เกิน 60%ของจีดีพี แต่ปี 2565 เกินแน่ ซึ่งไม่มีปัญหาในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้งบประมาณมากขึ้น

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นแบบ K Shape ธุรกิจขนาดใหญ่ไปได้เช่นเดิม แต่กลุ่มมีรายได้น้อย กลุ่มที่มีเงินเดือน ค่าจ้างแรงงานที่ถูกปลดออกจากงาน กลุ่มนี้รายได้หายไปเยอะ เงินออมก็ใช้ไปหมด เป็นหนี้นอกระบบ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ สรุปคือเงินกู้และงบประมาณมีข้อจำกัดต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น การทำงบประมาณแบบบูรณาการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ