ประกันวินาศภัยไทย เผยเหตุผลที่บริษัทต้องเลิกประกันโควิด เจอ จ่าย จบ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ประกันวินาศภัยไทย เผยเหตุผลที่บริษัทต้องเลิกประกันโควิด เจอ จ่าย จบ

Date Time: 19 พ.ย. 2564 14:24 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • ประกันวินาศภัยไทย เผยเหตุผลที่บริษัทประกันภัยหลายแห่งต้องเลิกประกันโควิด เจอ จ่าย จบ พร้อมระบุ 4 ข้อที่เห็นแย้งกับคำสั่ง คปภ.

Latest


ประกันวินาศภัยไทย เผยเหตุผลที่บริษัทประกันภัยหลายแห่งต้องเลิกประกันโควิด เจอ จ่าย จบ พร้อมระบุ 4 ข้อที่เห็นแย้งกับคำสั่ง คปภ.

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นความเสี่ยงที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือที่เรียกว่าความเสี่ยงอุบัติใหม่ หรือ Emerging Risk ซึ่งโดยหลักแล้ว การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยจะไม่มีสถิติมารองรับอย่างเพียงพอ ดังนั้น ในระยะเริ่มต้นจึงต้องอาศัยการคาดการณ์จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่

เมื่อมีการติดตามผลการรับประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถนำข้อมูลที่มีมากขึ้นมาใช้ปรับอัตราเบี้ยประกันภัย และเงื่อนไขความคุ้มครองให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หาก Emerging Risk ใด ก่อให้เกิดความเสียหายสูงกว่าความคาดหมายมากเกินระดับที่กำหนดไว้ ก็อาจต้องมีการพิจารณายุติความเสี่ยงเพื่อควบคุมความเสียหายไม่ให้ส่งผลกระทบออกไปในวงกว้าง

โดยในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ก็ได้มีการกำหนดหลักการสำหรับการรับประกันภัยว่าไม่ควรรับประกันภัยรายเดียวหรือหลายรายรวมกันเพื่อวินาศภัยเดียวกัน เกินกว่า 10% ของเงินกองทุน เพื่อป้องกันไม่ให้วินาศภัยใดก่อให้เกิดความเสียหายจนอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินได้ในที่สุด

จากสถิติ ณ วันที่ 15 พ.ย. 64 นั้นแสดงให้เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนรวมจากการรับประกันภัยโควิด-19 มีจำนวนกว่า 37,000 ล้านบาท ในขณะที่เงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้นอยู่ที่ประมาณ 132,000 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน

รวมถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทำให้คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท ฉะนั้น อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก และอาจเพิ่มสูงถึง 60-70% ของเงินกองทุนหากเกิดการระบาดระลอกใหม่

สำหรับประเด็นคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัยนั้น คปภ.ให้มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงกรมธรรม์ที่ได้ออกไปแล้วก่อนหน้าวันที่มีคำสั่งประกาศใช้ แต่ความเห็นจากกลุ่มบริษัทที่รับประกันภัยโควิด-19 มีความเห็นแตกต่าง ดังนี้

1. คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้เฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกใหม่หลังวันที่ออกคำสั่ง เช่นที่เคยปฏิบัติมา

2. ตามหลักกฎหมายทั่วไป (รัฐธรรมนูญ หลักกฎหมายปกครอง และหลักกฎหมายอาญา) กฎหมายย่อมไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ยกเว้นกฎหมายที่เป็นคุณกับผู้ถูกบังคับ

3. เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมีความสัมพันธ์กับนโยบายการรับประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย เมื่อมีคำสั่งแก้ไขเฉพาะเงื่อนไข ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับประกันภัย เพราะเมื่อมีการปรับเงื่อนไข จะทำให้ความเสี่ยงเปลี่ยนไป ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิเลือกว่าจะรับประกันภัยต่อไปหรือไม่ และด้วยอัตราเบี้ยประกันภัยเท่าใด

4. มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้รับประกันภัยต่อ เพราะเงื่อนไขที่นายทะเบียนสั่งแก้ไขอาจไม่ตรงกับสัญญาประกันภัยต่อ และจะทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยต่อ

นายอานนท์ กล่าวอีกว่า เงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกเปรียบเสมือนเป็นระบบเซฟทีคัทในบ้านทุกหลัง หรือระบบเบรกในรถยนต์ทุกคัน เพื่อจะใช้ตัดไฟหรือหยุดรถในยามฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ ผมขอเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ลองนึกถึงรถที่บรรทุกผู้โดยสารอยู่เต็มคันรถวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปเชียงราย

แต่ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายและไม่มีความพร้อมที่จะเดินทางต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดรถเพื่อซ่อมแซมให้เกิดความปลอดภัย แต่มีคนมาสั่งการให้เอาระบบเบรกออกและสั่งให้รถวิ่งต่อไป ซึ่งทางข้างหน้าเป็นทางที่อันตราย และรถก็ไม่มีระบบเบรกแล้ว เช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายถึงชีวิตทั้งกับคนขับ ผู้โดยสาร และผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นได้

สำหรับมาตรการเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ได้มีการพิจารณาร่วมกัน มีดังต่อไปนี้

1. ได้รับเบี้ยประกันภัยคืน 100% จากบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิก แทนที่จะได้รับเบี้ยคืนตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ

2. เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย (ภาวะโคม่า) ด้วยทุนประกันภัย 5 เท่าของวงเงินความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่ถูกบอกเลิก หรือ

3. เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกันภัย 10 เท่าของวงเงินความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่ถูกบอกเลิก หรือ

4. นำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนตามข้อ 1. มาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆ ของบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิก โดยจะได้รับส่วนลดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2 เท่าของเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืน

ทั้งนี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมีเจตนาดีที่จะนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงของประชาชนและภาครัฐอย่างเต็มความสามารถ โดยได้ร่วมกับสำนักงาน คปภ. พัฒนากรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพและการเงินให้กับประชาชน และช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในเรื่องของการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและการชดเชยรายได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของเงินกองทุนที่มีอยู่ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยังคงลากยาวต่อเนื่อง และค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นในระดับที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัยและผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยอื่นอีกกว่า 70 ล้านกรมธรรม์ จึงทำให้สมาคมฯ ต้องแจ้งให้บริษัทสมาชิกที่รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอ จ่าย จบ ให้วิเคราะห์ผลการรับประกันภัย

รวมถึงทบทวนการบริหารความเสี่ยงและเงินกองทุนของบริษัท เนื่องมาจากภาพรวมและปัจจัยความเสี่ยงที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยขอให้บริษัทสมาชิกประเมินค่าสินไหมทดแทนที่ได้เกิดขึ้นแล้วและที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต โดยเฉพาะกรณีหากมีการระบาดระลอกใหม่ขึ้น ว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนและฐานะการเงินของบริษัทจนทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้หรือไม่

ทั้งนี้ หากฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยใดไม่สามารถรองรับความเสี่ยงได้อีกในอนาคต และจำเป็นต้องบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทประกันภัยเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาในการเอาเปรียบหรือทอดทิ้งผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด แต่เป็นความจำเป็นและเป็นการบริหารความเสี่ยงที่พึงกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบกับผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบหากบริษัทที่รับประกันภัยโควิดต้องปิดกิจการเพิ่มอีกในอนาคต

นอกจากนี้แล้ว หากบริษัทประกันภัยต้องปิดกิจการลง ก็จะส่งผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ของบริษัทประกันภัยซึ่งไม่มีสิทธิรับเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ตัวแทน นายหน้า พนักงาน และเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ของบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยจึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจดังกล่าวในอนาคตเพื่อจำกัดความเสียหายไม่ให้เกิดในวงกว้าง และรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัยไว้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ