ส.อ.ท.เกาะติด 3 ปัจจัยเสี่ยง ธปท.ยกระดับติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ส.อ.ท.เกาะติด 3 ปัจจัยเสี่ยง ธปท.ยกระดับติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค

Date Time: 12 พ.ย. 2564 05:30 น.

Summary

  • ธปท.ยกระดับการติดตามภาวะเศรษฐกิจ พัฒนาเครื่องชี้เร็วเศรษฐกิจภูมิภาค ติดตามพฤติกรรมคนไทยทั้งประเทศ ผ่านออฟไลน์และออนไลน์ ระบุหลังเปิดประเทศเศรษฐกิจทุกภูมิภาคของไทยเริ่มดีขึ้น

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ธปท.ยกระดับการติดตามภาวะเศรษฐกิจ พัฒนาเครื่องชี้เร็วเศรษฐกิจภูมิภาค ติดตามพฤติกรรมคนไทยทั้งประเทศ ผ่านออฟไลน์และออนไลน์ ระบุหลังเปิดประเทศเศรษฐกิจทุกภูมิภาคของไทยเริ่มดีขึ้น ด้าน ส.อ.ท.เกาะติดปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยใกล้ชิด หวั่นบั่นทอนการผลิตและแรงซื้อประชาชนหลังต้นทุนการผลิตพุ่ง ทำให้ราคาสินค้าขยับขึ้น หวั่นไทยขาดแคลนแรงงานต่างด้าว 800,000 คน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยง ต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาพรวมที่ปรับตัวสูงขึ้นและสะท้อนไปยังราคาสินค้าที่อาจบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงได้ ประกอบด้วย 1.ต้นทุนวัตถุดิบทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ การเกษตรที่ปรับขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้ากลางน้ำและปลายน้ำทยอยปรับราคา 2.แรงงานต่างด้าวในไทยที่กำลังขาดแคลนอย่างรุนแรง 3.ค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าและผันผวนส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบและพลังงาน “ปัจจุบันราคาน้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ ในตลาดโลกที่สูงขึ้น ทำให้วัตถุดิบที่ใช้พลังงานผลิตปรับขึ้น เช่นเดียวกับภาคขนส่ง และเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่วนเงินบาทอ่อนค่ามีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีต่อภาคส่งออกที่จะเป็นแต้มต่อให้ไทย แต่ภาคส่งออกไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นบริษัทข้ามชาติ ขณะที่ผลเสียคือการนำเข้าเครื่องจักรและพลังงานจะสูงขึ้นอีกเพราะไทยพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก”

นอกจากนี้ เมื่อไทยเปิดประเทศทำให้แรงงานในภาคผลิต ท่องเที่ยวและบริการมีความต้องการเพิ่มขึ้น ประเมินว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานต่างด้าว 800,000 คน แบ่งเป็นภาคการผลิตอุตสาหกรรม 500,000 คน ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง 300,000 คน ดังนั้นหากแรงงานต่างด้าวกลับมาทำงานไม่ทันกับความต้องการจ้าง ก็จะกระทบต่อธุรกิจที่กำลังฟื้นตัว

นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้พัฒนาเครื่องชี้เร็วเศรษฐกิจภูมิภาค หรือ BOT RAT ซึ่งย่อมาจาก Regional Activity Tracker เพื่อยกระดับความสามารถการจับชีพจรและแนวโน้มเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ช่วยในการทำนโยบายมหภาค และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเร็วที่สะท้อนให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจเพื่อประกอบการวางแผนธุรกิจ และประชาชนที่สนใจ โดยจากการติดตามภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคล่าสุด พบว่า หลังจำนวนผู้ฉีดวัคซีนในประเทศสูงขึ้นและเปิดประเทศ เศรษฐกิจทุกภูมิภาคเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น โดยเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังมีความเสี่ยงเชียงใหม่ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทำให้การฟื้นตัวอาจล่าช้า ขณะที่ภาคใต้ การฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น แต่เริ่มเห็นการปรับตัวดีขึ้นหลังการเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในรายละเอียด BOT RAT จะนำเสนอเครื่องชี้เร็วใหม่ๆทั้งหมด 13 เครื่องชี้ เช่น ดัชนีการจองที่พัก ดัชนีการเดินทางทางบก ทางอากาศ ดัชนีการขนส่งสินค้า ดัชนีการซื้อสินค้าออนไลน์ ดัชนีความเสี่ยงภัยแล้ง น้ำท่วม ครอบคลุม 5 สาขา ได้แก่ เศรษฐกิจแต่ละภูมิภาค การท่องเที่ยว ตลาดแรงงาน การใช้จ่ายประชาชนและภาคเกษตร

สำหรับข้อมูลที่นำมาใช้ ธปท.ได้จากการติดตามพฤติกรรมของประชาชนทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล แอคติวีตี้ การซื้อสินค้าออนไลน์ ความหนาแน่นในการเดินทางผ่านทางหลวง โดย ธปท.มีกำหนดเผยแพร่ข้อมูลเป็นประจำทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน เริ่ม 15 พ.ย.นี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ