นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องการกู้เงินเสริมสภาพคล่องจำนวน 25,000 ล้านบาทนั้น กระทรวงการคลัง ไม่สามารถดำเนินการกู้เงินให้ได้ เนื่องจากการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ทำให้ไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะอีกต่อไป ส่วนเรื่องการกู้เงิน ในฐานะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น เป็นหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาในรายละเอียด
นางแพตริเซียกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะมีภาระหนี้รวม 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่กู้เงินแล้ว 1.19 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ต้องกู้ใหม่อีก 1.12 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท, การกู้เงิน 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด ฉบับที่ 2 วงเงิน 500,000 ล้านบาท, การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมาตรา 22 ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้ วงเงินราว 40,000-50,000 ล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีพีดี) ณ สิ้นเดือน ก.ย.64 อยู่ที่ 57.98% ของจีดีพี และคาดการณ์ว่า ณ สิ้นเดือน ก.ย.65 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี
“การกู้เงินของรัฐบาลจะเน้นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก แต่หากจำเป็นจะกู้เงินต่างประเทศก็ต้องพิจารณาเป็นรายโครงการ อาทิ โครงการลงทุนสนามบินอู่ตระเภา เป็นต้น ส่วนจะออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเป็นหนี้ของรัฐบาล ไม่อยากให้นำมาคำนวณต่อรายหัวประชากร เพราะไม่เป็นตามหลักสากล และไม่มีใครทำกัน ซึ่งการกู้เงิน หรือเป็นหนี้ของทุกรัฐบาลนั้น เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาประเทศและให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ.