นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า วิกฤติโควิดส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้มูลค่าค้าปลีกและบริการสูญหายกว่า 800,000 ล้านบาท มีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านคน หนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สมาคมขอนำเสนอแนวทาง 7 S Recovery เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเร่งด่วน ดังนี้
1. Stimulus Consumption ภาครัฐต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว ตรงเป้าเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ส่งเสริมเที่ยวไทย เพิ่มวงเงินคนละครึ่งและยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งนำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมา โดยเพิ่มวงเงินเป็น 200,000 ล้านบาท ไปจนถึง ก.พ.65 รัฐบาลต้องลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภค โดยลดค่าสาธารณูปโภค คาดว่าจะสร้างเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจจากนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย.65 ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาทหรือราว 10% ของจีดีพี
2.Support Employment รัฐต้องรักษาการจ้างงาน โดยใช้มาตรการภาษี เพื่อไม่ให้ลดพนักงานหรือเลิกจ้าง
3.Strengthen SME รัฐต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเร่งด่วนเพื่อพยุงเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 3 ล้านรายให้อยู่รอด รวมทั้งมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
4. Speed Up Digital Economy รัฐต้องลดกฎระเบียบและพัฒนาระบบคลาวด์, เอไอ และดาต้า เซ็นเตอร์ ให้พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
5. Simplify Regulation ปรับกฎระเบียบต่างๆที่ช่วยให้การประกอบธุรกิจง่ายและสะดวกมากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนและลดค่าเสียโอกาสของธุรกิจได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8% ของจีดีพี ฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
6.Sustainable Public Health ต้องป้องกัน,ควบคุม และระมัดระวังการแพร่ระบาดของโควิดใกล้ชิด 7.Spike Up Private Investment รัฐต้องสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน เพราะทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงาน ช่วยให้การบริโภคขยายตัวได้ทันที.