ยันเหตุสุดวิสัย-โควิดพ่นพิษ “อีอีซี” แจงแก้สัญญาแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เอื้อซีพี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ยันเหตุสุดวิสัย-โควิดพ่นพิษ “อีอีซี” แจงแก้สัญญาแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เอื้อซีพี

Date Time: 27 ต.ค. 2564 07:01 น.

Summary

  • “อีอีซี” ออกโรงแจงการแก้สัญญากับกลุ่มซีพี เข้าบริหาร “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” ยืนยันได้รับผลกระทบจริงจากการระบาดของโควิด แก้สัญญาไม่ได้มาจากปัญหา “ซีพี” ขอสินเชื่อไม่ได้

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

“อีอีซี” ออกโรงแจงการแก้สัญญากับกลุ่มซีพี เข้าบริหาร “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” ยืนยันได้รับผลกระทบจริงจากการระบาดของโควิด แก้สัญญาไม่ได้มาจากปัญหา “ซีพี” ขอสินเชื่อไม่ได้ เพราะยังไม่ก่อสร้างเส้นทาง ย้ำเงินค่าบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ผ่อนได้ แต่รัฐต้องได้ครบ 10,671 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้แถลงข่าวชี้แจงประเด็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับเอกชนคู่สัญญา บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีถือหุ้นใหญ่ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 เห็นชอบว่า ทางบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้เสนอขอแก้ไขสัญญามาตั้งแต่ปลายปี 2563 เฉพาะในส่วนการจ่ายเงินค่าสิทธิ์บริหารโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากเดิมที่ต้องชำระเต็ม 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ผู้โดยสารลดลงจาก 70,000-80,000 คน/วัน เหลือเพียง 10,000-20,000 คน/วัน ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน

“ในตอนแรก สกพอ.ไม่ได้นำมาพิจารณา เพราะคิดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดใกล้จบแล้ว ต่อมาในเดือน พ.ค.2564 ทางบริษัททำหนังสือมาเป็นทางการ และมีการแพร่ระบาดของโควิดในรอบที่ 2 และรอบที่ 3 จึงได้เสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือบอร์ดอีอีซี ก่อนเสนอ ครม. พิจารณา เพราะเห็นว่ามีผลกระทบจริง อีกทั้งโครงการในอีอีซีเป็นการร่วมทุนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐและเอกชนเข้ามาร่วมรับความเสี่ยงด้วยกันจำเป็นต้องมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่จะเจรจาหาทางออกในกรณีสุดวิสัย และนำไปสู่การแก้ไขสัญญาภายใต้ความเข้าใจร่วมกันให้โครงการประสบความสำเร็จโดยรัฐและเอกชนไม่เสียเปรียบซึ่งกันและกัน”

เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 รฟท.และเอกชนคู่สัญญา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาโครงการส่วนจะแบ่งจ่ายกี่งวดจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะทำงานที่แต่งตั้งโดย รฟท.และคณะกรรมการกำกับเพื่อนำเสนอ รฟท. กพอ. และ ครม.ต่อไป ประเด็นสำคัญคือ รัฐจะต้องได้เงินเต็มจำนวน 10,671 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย จะได้เงินน้อยกว่าที่ตกลงในสัญญาไม่ได้ ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากที่เอกชนคู่สัญญาขอกู้เงินไม่ได้ตามที่มีข่าวออกไป เพราะในตอนนี้เอกชนยังไม่จำเป็นต้องกู้เงิน เพราะส่วนที่ต้องกู้เพื่อการก่อสร้างกว่า 100,000 ล้านบาทจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย.2565

ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงิน 1,067 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของสิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามบันทึกข้อตกลง และได้เข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ต ลิงก์ ในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ตามที่วางไว้ โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด ประมาณเดือนละกว่า 100 ล้านบาท รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหมดที่ก่อนหน้านี้เอกชนได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ในการดำเนินการปรับปรุงระบบและบริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และฝึกอบรมพนักงาน พร้อมมีข้อเสนอจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาท และขณะที่ รฟท.ยังเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร ไม่โอนรายได้ให้เอกชนในทันที แต่จะโอนให้เมื่อแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ ทั้งนี้จะให้เอกชนนำค่าโดยสารดังกล่าวไปหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หากกำไรต้องส่งคืน รฟท. ดังนั้น รฟท.จึงไม่ต้องรับภาระขาดทุนจากแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อีกต่อไป คิดเป็นประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2564

“กรณีโครงการร่วมทุนอื่นๆไม่จำเป็นต้องนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาเช่นนี้อีก เพราะโครงการท่าเรือมาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา กำลังเริ่มก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จใน 4 ปี ผลกระทบจากโควิดคงหมดไปแล้ว ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังที่จะลงนามในต้นเดือน พ.ย.นี้ได้พิจารณาผลกระทบเหล่านี้ในสัญญาไว้แล้ว”

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทาง รฟท.ส่งมอบพื้นที่พร้อมก่อสร้างของโครงการช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 98.11% ระยะทาง 160 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ซึ่งเอกชนคู่สัญญาทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 63 โดย รฟท.จะส่งมอบพื้นที่ที่เหลืออีก 1.89% ภายในเดือน ม.ค.65 เมื่อตรวจรับพื้นที่แล้วเสร็จ รฟท.จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (NTP) คาดว่าประมาณเดือน มี.ค.65 จากนั้นภายใน 240 วันให้เอกชนคู่สัญญาทำสัญญาสินเชื่อโครงการกับสถาบันการเงิน โดยขั้นตอนการหาสินเชื่อจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ย.2565.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ