ประเทศไทยหนุนข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของโออีซีดี สกัดบริษัทโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Tax Haven) สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี เดินหน้าตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS” และการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมีกรอบข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษี 2 แนวทาง ได้แก่
1.เป็นการกำหนดหลักการการจัดเก็บภาษีตามมาตรฐานสากลด้วยการเก็บภาษีตามสัดส่วน การปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มายังประเทศแหล่งเงินได้ โดยกำหนดสัดส่วนของกำไรที่ต้องแบ่งให้ประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่ในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจุดเกาะเกี่ยว ทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ ที่ต้องมีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านยูโร โดยแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปยังประเทศผู้ใช้งาน 25% ของส่วนกำไรที่เกิน 10% ของรายได้ และขอบเขตการจัดเก็บภาษี บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องมีรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านยูโร และมีกำไรมากกว่า 10% ของรายได้ คาดว่าสามารถนำข้อเสนอ การจัดเก็บภาษีจากการปันกำไรมาบังคับใช้โดยการจัดทำความตกลงแบบพหุภาคี โดยจะเปิดให้ลงนามปี 2565 มีผลบังคับใช้ปี 2566
“คาดว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากข้อเสนอนี้ เนื่องจากไทยไม่ได้มีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่อยู่ในขอบข่ายของการปันกำไร โดยประเทศไทยมีโอกาสได้รับการปันกำไรในส่วนนี้ หากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หรือบริษัทดิจิทัลต่างๆมีการให้บริการและมีรายได้จากลูกค้า ในประเทศไม่น้อยกว่า 1 ล้านยูโร แม้ไม่ได้มาประกอบกิจการในไทย แต่มีเงินได้จากการขายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้าในไทย”
2.การกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำอยู่ที่ 15% โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ และขอบเขตการจัดเก็บภาษี บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องมี
รายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป คาดว่าจะนำเสนอร่างกฎหมายที่ให้แต่ละประเทศไปปรับใช้เป็นกฎหมายภายในได้ภายในปี 2565 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2566 ส่วนผลกระทบคาดว่าจะส่งผลกระทบทางบวกต่อการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทย กรณีบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศและมีการวางแผนภาษีโดยการจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำเป็นการรักษาฐานภาษีในประเทศ สร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อวิธีการส่งเสริมการลงทุนที่ใช้ภาษี ในการสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุนในไทย เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
“ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 136 ประเทศ จาก 140 ประเทศ ที่เห็นด้วยหรือไม่คัดค้านต่อกรอบ Revised Inclusive Framework Statement รวมประเทศไทยด้วย ส่วน 4 ประเทศที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ ศรีลังกา ไนจีเรีย เคนยา ปากีสถาน”
ขณะที่กระทรวงการคลังระบุว่าถือเป็นการปฏิรูประบบภาษีโลกในยุคดิจิทัลที่มีความคืบหน้าและมีนัยสำคัญต่อไทย เพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Tax Haven) เป็นต้น โดยข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการบริหาร จัดเก็บภาษีของไทย ฯลฯ ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมของไทย กระทรวงการคลังจะได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีดังกล่าว.