เอสเอ็มอีสู้ศึกออนไลน์ได้ดี มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปังสุดในอาเซียน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เอสเอ็มอีสู้ศึกออนไลน์ได้ดี มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปังสุดในอาเซียน

Date Time: 15 ต.ค. 2564 05:15 น.

Summary

  • คาดมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปีนี้แตะ 4.01 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.11% โดยมูลค่าการค้าแบบ B2C หรือธุรกิจถึงลูกค้าครองอันดับ 1 ในอาเซียน 6 ปีซ้อน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

คาดมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปีนี้แตะ 4.01 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.11% โดยมูลค่าการค้าแบบ B2C หรือธุรกิจถึงลูกค้าครองอันดับ 1 ในอาเซียน 6 ปีซ้อน จากกระแสแบรนด์หันมาขายสินค้าและบริการตรงกับลูกค้า ไม่ผ่านคนกลาง เผยเอสเอ็มอีปรับตัวได้ดี หันขายออนไลน์ทำยอดอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ปรับตัวได้ช้ากว่า โดยอาจติดข้อกฎหมาย เงื่อนไขภาษี

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) หรือเอ็ตด้า เผยผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในไทย ปี 2564 หรือ Value of e-Commerce Survey in Thailand 2021 โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยในปี 2564 จะอยู่ที่ 4.01 ล้านล้านบาท เติบโตจากปี 2563 ประมาณ 6.11% โดยเติบโตเฉลี่ยสะสมระหว่างปี 2560-2564 อยู่ที่ 9.79%

ส่วนในปี 2563 มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยอยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท ลดลง 6.68% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 4.05 ล้านล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยที่ 3.78 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2563 มีสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในรูปแบบ B2C (ธุรกิจกับผู้บริโภค) มากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.17 ล้านล้านบาท หรือ 57.39%, B2B (ธุรกิจกับธุรกิจ) มีมูลค่ากว่า 840,000 ล้านบาท หรือ 22.14% และ B2G (ธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ) มีมูลค่า 770,000 ล้านบาท หรือ 20.47% โดยอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ครองสัดส่วนอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีทีี่ 2 เนื่องจากพฤติกรรมการขายเปลี่ยนไป โดยผู้ขายลดการขายระหว่างกันแบบ B2B ลง แล้วหันมาขายสินค้าและบริการตรงถึงลูกค้า (Direct to Customer) แทน และคาดว่าในปี 2564 นี้ อีคอมเมิร์ซแบบ B2C ก็จะยังคงครองสัดส่วนอันดับ 1 ได้ต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ในปี 2562 (ข้อมูลล่าสุดที่มี) ไทยยังคงครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกัน 6 ปีซ้อน โดยมีมูลค่า 55,920 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเป็นมาเลเซีย 46,190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อินโดนีเซีย 17,520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เวียดนาม 10,080 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ 2,360 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสิงคโปร์ 2,160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยคาดว่าในปี 2564 มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทย สูงสุดรายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,628,488.05 ล้านบาท (52.14%) 2.อุตสาหกรรมข้อมูล ข่าวสาร และการสื่อสาร มีมูลค่า 477,293.12 ล้านบาท (15.28%) 3.อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า 476,328.08 ล้านบาท (15.25%)

จากการสำรวจยังพบอีกว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นความสามารถในการปรับตัวสู่ช่องทางออนไลน์ โดยมูลค่าการขายผ่านอีคอมเมิร์ซของเอสเอ็มอีในปี 2563 เติบโตจากปี 2562 กว่า 13% ขณะที่มูลค่าการขายผ่านอีคอมเมิร์ซของบริษัทขนาดใหญ่ลดลง 30% เนื่องด้วยความสามารถปรับตัวได้ช้ากว่า ติดขั้นตอนกฎหมาย ภาษีต่างๆ โดยคาดว่าปีนี้มูลค่าอีคอมเมิร์ซฝั่งเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท และบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ