ดันเศรษฐกิจโต 5% ต่อปี เพิ่มการลงทุนใน “อีอีซี” 2.2 ล้านล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ดันเศรษฐกิจโต 5% ต่อปี เพิ่มการลงทุนใน “อีอีซี” 2.2 ล้านล้านบาท

Date Time: 5 ต.ค. 2564 06:10 น.

Summary

  • “ประยุทธ์” เคาะปรับเพิ่มแผนการลงทุนอีอีซี 2.2 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปีละ 500,000 ล้านบาท ดันเศรษฐกิจกลับมาโต 4.5–5% ต่อปีหลังเจอผลกระทบโควิด-19

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

“ประยุทธ์” เคาะปรับเพิ่มแผนการลงทุนอีอีซี 2.2 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปีละ 500,000 ล้านบาท ดันเศรษฐกิจกลับมาโต 4.5–5% ต่อปีหลังเจอผลกระทบโควิด-19 พร้อมนำร่องเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ปฏิรูปและยกระดับไทย ก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด ดันปฏิรูปภาคเกษตรในอีอีซี ใช้เทคโนโลยีสร้างสินค้าเกษตรคุณภาพดี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน ออก (สกพอ. หรืออีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบปรับแผนลงทุนอีอีซีระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ให้มีวงเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท หรือต้องทำให้ได้ปีละ 500,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่วางไว้ปีละ 300,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี บรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572 ส่วนผลการดำเนินงานในระยะแรกของอีอีซี ปี 2561-2565 กำหนดเงินลงทุนไว้ 1.7 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน เกิดเงินลงทุนแล้ว 1,605,241 ล้านบาท หรือ 94% คาดว่าสิ้นปีนี้จะได้ตามเป้าหมาย โดยเร็วกว่าแผน 1 ปี

สำหรับแผนลงทุนอีอีซีระยะ 2 จะขับเคลื่อนต่อยอด เร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กิโลเมตร (กม.) รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง (TOD)

2.ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท ด้วยการลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่ม ที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมปีละ 150,000 ล้านบาท 3.ยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด อีคอมเมิร์ซสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้น ฯลฯ

“ กพอ.ได้เห็นชอบขยายมาตรการ สนับสนุนการลงทุนจากโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลสู่การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ (แซนด์บ็อกซ์) ในการปฏิรูป ยกระดับประเทศไทยก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศ ที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด และให้ สกพอ.จัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร และที่มิใช่ภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการลงทุนโดยเน้นกลุ่มที่มีศักยภาพใช้นวัตกรรมขั้นสูง ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อเป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการ ลดอุปสรรคการลงทุน เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน”

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (2566-2570) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นตลาดนำการผลิต นำเทคโนโลยีสร้างรายได้ สร้างโอกาส การตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพดี ใน 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง
พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม เพื่อยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในอีอีซี เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ศึกษาการจัดตั้งบริษัท เพื่อบริหารโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ร่วมทุนกับเอกชนท้องถิ่น วางระบบการค้าสมัยใหม่ โดยโครงการ EFC จะสร้างรายได้ 20-30% มูลค่า 10,000-15,000 ล้านบาทต่อปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ