“สิงห์อมควัน” จุกครม.ขึ้นภาษี บุหรี่ไทยพุ่งซองละ 60-72 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“สิงห์อมควัน” จุกครม.ขึ้นภาษี บุหรี่ไทยพุ่งซองละ 60-72 บาท

Date Time: 29 ก.ย. 2564 07:06 น.

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

สิงห์อมควันเศร้า! ครม.ไฟเขียวขึ้นภาษีบุหรี่มีผล 1 ต.ค.นี้ ทำบุหรี่ไทยขึ้นมาอยู่ 60–72 บาท บุหรี่นอกขยับ 155–160 บาท “ชัยวุฒิ” ไอเดียบรรเจิด ชง “บุหรี่ไฟฟ้า” ถูกกฎหมาย นายกฯเบรก อ้าง “หมอ” ว่ายังอันตราย ด้าน “อาคม” ขอให้ ครม.เก็บเป็นความลับก่อน พร้อมดึงเอกสารคืนหลังอนุมัติเสร็จ “บิ๊กตู่” แซว “บอกเก็บเป็นความลับทีไร คนรู้ก่อนทุกที”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 ต.ค.2564 นี้ ส่วนรายละเอียดของโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ใหม่นั้น ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อความชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ที่ ครม.อนุมัติในครั้งนี้จะมีปรับการคิดภาษีบุหรี่ ทั้งจากปริมาณและมูลค่า โดยจะมีผลทำให้ราคาบุหรี่ในท้องตลอดปรับเพิ่มขึ้น โดยการคำนวณภาษีจากปริมาณจะปรับจาก 1.20 บาทต่อมวนหรือซองละ 24 บาท เป็นอัตรา 1.25 บาทต่อมวน หรือซองละ 25 บาท ส่วนการคำนวณด้านมูลค่า กรณีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 60 บาท เดิมเก็บ 20% จะเก็บเพิ่มเป็น 25% ซึ่งจะทำให้ราคาบุหรี่ปรับขึ้นเฉลี่ย 5-6 บาทต่อซอง ขณะที่กรณีราคาขายปลีกแนะนำเกินซองละ 60 บาท เดิมเก็บ 40% เพิ่มเป็น 42% ซึ่งอาจ ทำให้ราคาบุหรี่ปรับขึ้นเฉลี่ย 10-12 บาทต่อซอง

โดยการคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ดังกล่าว จะมีผลให้ราคาบุหรี่ในท้องตลาดปรับเพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้น บุหรี่ขายปลีกที่มีราคาซองละ 55 บาท ปรับเพิ่มเป็น 60 บาท ส่วนบุหรี่ซองละ 60 บาทจะมีโอกาสปรับขึ้นสูงสุด 70-72 บาท ส่วนกลุ่มบุหรี่ราคาสูงที่ได้รับความนิยมซองละ 95 บาท อาจขึ้นเป็นซอง 110-115 บาท ทั้งนี้ รายละเอียดทั้งหมดจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 ก.ย.64 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการจัดเก็บภาษีบุหรี่เดิมแต่ละปีที่รัฐจะจัดเก็บได้ราว 63,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาเรื่องโครงสร้างภาษีบุหรี่นั้น นายอาคม ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันบุหรี่นอกหรือบุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศจำหน่ายอยู่ที่ซอง 145-150 บาท เมื่อปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่วันที่ 1 ต.ค.2564 ก็จะทำให้ราคาบุหรี่นอกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ซองละ 155-160 บาท ส่วนบุหรี่ที่จำหน่ายซองละ 60 บาท ก็จะขยับเป็นซองละ 70-72 บาท

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แสดงความเห็นว่าควรพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไอคอส เป็นบุหรี่ถูกกฎหมาย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคสูบบุหรี่มวนลดลงหันไปบริโภคบุหรี่รูปแบบใหม่ๆ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีของรัฐน้อยลง และผู้ปลูกยาสูบได้รับผลกระทบจากราคาใบยาตกต่ำ รัฐต้องจ่ายชดเชยช่วยเหลือ ขณะที่โครงสร้างภาษีบุหรี่ของไทย ทำให้บุหรี่ไทยที่โรงงานยาสูบผลิตและจำหน่ายราคาสูงกว่ายี่ห้อต่างประเทศที่นำเข้ามาค่อนข้างมาก ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันไปสูบบุหรี่ต่างประเทศ ทำให้โรงงานยาสูบขาดทุนและบุหรี่ไทยจะตาย โดยหากทำให้บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย จะช่วยลดการขาดทุนของโรงงานยาสูบ ช่วยเกษตรกร รัฐไม่ต้องจ่ายชดเชยอีกต่อไป และจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น โดยยกตัวอย่างหลายประเทศในยุโรป หรือญี่ปุ่น และยังได้หยิบยกงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าบุหรี่ไอคอสมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มวน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางสาธารณสุขและหมอยังยืนยันว่ามีความอันตรายอยู่ ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

ด้านนายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่ทราบอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่แน่ชัด แต่ยอมรับว่าหากมีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่จริง ยสท.จะต้องมีการปรับราคาบุหรี่ให้สอดคล้องกับอัตราภาษีใหม่ ซึ่งการขึ้นภาษีบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ยสท.เพราะช่วงการขึ้นภาษีเมื่อปี 60 ได้กระทบให้ยอดขายการยาสูบฯ ลดลงจากปีละ 28,000 ล้านมวน เหลือ 18,000 ล้านมวน และทำให้กำไรลดจากปีละ 9,400 ล้านบาท เหลือเพียง 1,000 ล้านบาท อีกทั้งยังกระทบต่อการรับซื้อใบยาชาวไร่จาก 27-30 ล้าน กก. เหลือ 13 ล้าน กก. โดยคนหันไปสูบบุหรี่เถื่อนซึ่งมีถึง 20% ของตลาด รวมถึงยาเส้นที่เติบโตมาแล้วกว่า 3 เท่าตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจากทำเนียบรัฐบาล ว่า นายอาคมได้แจ้งกับ ครม.ว่า ขอให้เก็บเรื่องโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่เป็นชั้นความลับก่อน เนื่องจากเกรงว่าจะมีการกักตุนสินค้า โดยหลังจากที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วได้เก็บเอกสารวาระดังกล่าวกลับคืนทันที และไม่มีการแถลงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวติดตลกว่า “ที่บอกว่าเป็นชั้นความลับ ก็เห็นออกไปทุกที เดี๋ยวผมจะใช้สัญญาณดาวเทียมจับว่าใครเป็นคนปล่อย” ทำให้ที่ประชุม ครม.ต่างพากันหัวเราะชอบใจ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ