จับตาคณะรัฐมนตรีเคาะภาษีบุหรี่ใหม่วันนี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตาคณะรัฐมนตรีเคาะภาษีบุหรี่ใหม่วันนี้

Date Time: 28 ก.ย. 2564 07:01 น.

Summary

  • กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาทบทวนโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.64 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ซอง 60 บาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ก.ย.นี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาทบทวนโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.64 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ซอง 60 บาท แต่อัตราภาษีใหม่จะปรับเป็นอัตราใดนั้น ต้องรอผลการประชุม ครม. และกรมสรรพสามิตจะแถลงชี้แจงอีกครั้งวันที่ 30 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ได้มีการประกาศอัตราภาษีใหม่ที่จะจัดเก็บ แต่ราคาบุหรี่ในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นแล้วโดยเฉลี่ยซองละ 7-8 บาท ทั้งบุหรี่ไทยและบุหรี่ต่างประเทศ

สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน จัดเก็บทั้งปริมาณ (มวน) และซอง โดยปริมาณจัดเก็บอยู่ที่มวนละ 1.20 บาท ส่วนซอง ราคาไม่เกิน 60 บาท จัดเก็บภาษี 20% แต่หากเกินซองละ 60 บาท จัดเก็บภาษี 40% ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 60 อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างบุหรี่ครั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า จะปรับขึ้นเป็นอัตราเดียวกันทั้งบุหรี่ไทย และบุหรี่ต่างประเทศ เช่น อาจจะจัดเก็บที่อัตรา 36% เท่ากัน จากเดิมจัดเก็บ 2 อัตราคือ 20% และ 40%

โดยการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ ได้พิจารณาจาก 4 ปัจจัยสำคัญคือ การดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้มากนัก, สุขภาพของประชาชน โดยต้องทำให้ไม่เพิ่มผู้สูบหน้าใหม่ หรือผู้สูบรายเดิมลดการสูบลง, การปราบปรามบุหรี่เถื่อน โดยถ้าขึ้นภาษีสูงเกินไป และทำให้ราคาขายในประเทศสูงขึ้นตาม ผู้สูบก็อาจหันไปนำเข้าบุหรี่เถื่อนราคาถูกมาสูบแทน และการจัดเก็บรายได้ต้องเพิ่มขึ้น โดยทุกด้านต้องสมดุลกัน

นอกจากนี้ คลังจะเสนอแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 65 และกรอบ 5 ปี ให้ ครม. พิจารณา ซึ่งสาระสำคัญ คือ กำหนดเป้าหมายหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 65 เกินกว่า 60% โดยมีภาระหนี้ก้อนใหญ่ เช่น การก่อหนี้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินให้กู้ในปี 65 อีกกว่า 350,000 ล้านบาท รวมถึงการกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 65 อีกกว่า 700,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน จะเสนอวาระเพื่อทราบ เรื่องการขยายกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70% ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ