จับตา “บิ๊กตู่” นำทัพปรับเพดานหนี้ คณะกรรมการการเงิน-คลังเคาะ 20 ก.ย.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตา “บิ๊กตู่” นำทัพปรับเพดานหนี้ คณะกรรมการการเงิน-คลังเคาะ 20 ก.ย.

Date Time: 18 ก.ย. 2564 06:04 น.

Summary

  • จับตาที่ประชุมคณะกรรมการการเงินการคลังวันที่ 20 ก.ย. ที่มี “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะ เคาะขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับเพิ่มจาก 60% หลังเศรษฐกิจซบเซา

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

จับตาที่ประชุมคณะกรรมการการเงินการคลังวันที่ 20 ก.ย. ที่มี “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะ เคาะขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับเพิ่มจาก 60% หลังเศรษฐกิจซบเซา และหนี้สาธารณะปริ่มเพดานจ่อคอหอยที่ 58.8% แล้ว ส่วนจะขยับเป็น 65% หรือ 70% หรือมากกว่านั้น มีความเป็นไปได้หมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทย หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้กระทรวงการคลังต้องพิจารณาปรับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 58.88% ของจีดีพี ถือว่าใกล้เต็มเพดานที่กำหนดไว้แล้วที่ 60%

และอีกปัจจัยหนึ่งคือการใช้เงินกู้เต็มวงเงินหลังจากที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทก่อนหน้านี้จะออก พ.ร.ก.เพิ่มเติมอีก 500,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้เพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกินเพดานที่กำหนดไว้หรือปริ่มๆใกล้จะเกิน ซึ่งตามหลักการแล้วไม่สามารถปล่อยให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เกินเพดานที่กำหนดไว้ได้ เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและวินัยการเงินการคลังของประเทศ ดังนั้นกระทรวงการคลัง จึงจำเป็นต้องปรับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีใหม่

สำหรับตัวเลขเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีใหม่ จะเป็นสัดส่วนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ส่วนตัวเลขของการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะปรับเป็น 65% หรือ 70% นั้น ก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการปรับตัวเลขประมาณเศรษฐกิจ การใช้เงินกู้เต็ม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท และความจำเป็นที่จะต้องขยายเพดานรองรับอนาคตหากจะมีการออก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปีหน้า หลังสถานการโควิดคลี่คลาย

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยแล้ว ถือว่ายังมีช่องว่างสามารถขยายเพดานเพิ่มเติมได้อีก และเมื่อเทียบต่างประเทศเพดานหนี้สาธารณะของไทยถือว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำ เช่น ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูง 100% และอีกหลายประเทศก็สูงกว่าประเทศไทย เพราะวิกฤติโควิดกระทบเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศต้องปรับเพดานหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับสถานการณ์

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ใหม่ คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.7-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% ภายใต้สมมติฐานที่คาดว่าตัวเลขการติดเชื้อไวรัสโควิดจะผ่านจุดสูงสุดปลายเดือน ส.ค.นี้ และจะลดลงช่วงปลายเดือน ก.ย. 64 และไตรมาสสุดท้ายของปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมา หลังจากรัฐบาลผ่อนล็อกดาวน์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาแสดงความเห็นด้วยต่อการกู้เงินเพิ่มขึ้นของรัฐบาลและขยายเพดานหนี้สาธารณะ โดยระบุว่าการกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐเพื่อดำเนินมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป จะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจกลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วกว่าการไม่กู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และเมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กลับมาขยายตัวได้ดี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวจะปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มด้วย โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และค่อยๆปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ธปท.ยังมีความเห็นว่าเสถียรภาพทางการคลังของไทยยังมีความแข็งแกร่ง หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนั้น ส่วนใหญ่หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีศักยภาพในการกู้ยืมสูง สะท้อนจากอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทย ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน ดังนั้น หากมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นหรือขยายเพดานหนี้สาธารณะความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะจึงอยู่ในระดับต่ำ เพราะการประเมินของบริษัทจัดอันดับฯ จะพิจารณาจากประสิทธิผลของมาตรการคลังในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ