รมว.พาณิชย์ หนุนเอกชนไทย ยืนหนึ่งเรื่องส่งออก พร้อมรับมือการกีดกันทางการค้าจากต่างชาติ
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.64 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และได้กล่าวปาฐกถาในสัมมนา Together is Power 2021 หัวข้อ นโยบายการส่งเสริมการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ และการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาต่ำ เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ 4 ประการที่รัฐบาลและเอกชนต้องร่วมฝ่าโควิด-19 ได้แก่
1. กระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนทำงานร่วมกัน เอกชนจะเป็นทัพหน้าหารายได้เข้า ส่วนรัฐบาลจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของภาคเอกชน โดยตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ จะเห็นได้ชัดเจนจากการส่งออกดีขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ดังนั้นรัฐบาลและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันฟื้นเศรษฐกิจ
2. ทีมเซลส์แมนจังหวัดกับทีมเซลส์แมนประเทศ ต้องร่วมมือกันให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่วนทีมเซลส์แมนจังหวัดประกอบด้วยพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด Biz club จังหวัด Micro SMEs ของจังหวัด YEC ของจังหวัดสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด ตัวแทนเกษตรกร SMEs ทุกฝ่าย ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับจังหวัด รวมเป็น 77 ทีม และตั้งเป็น กรอ.พาณิชย์ระดับประเทศ ต้องแก้ปัญหาพืชผลเกษตรราคาตก ทีมเซลส์แมนจังหวัด ขวนขวายและไปถึงขั้นข้ามจังหวัดค้าขายระหว่างกันตามนโยบาย อย่างมังคุดใต้ล้นอีสานช่วยซื้อ ลำไยเหนือราคาตกจับมือกับทีมเซลส์แมนจังหวัดภาคใต้ และภาคตะวันออกช่วยกันแก้ปัญหา
ปัจจุบัน ทีมเซลส์แมนประเทศ ทูตพาณิชย์ ทั้ง 58 แห่ง ร่วมกับนักธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศทำการค้าส่งออก ต้องมีนโยบายชัดเจนว่าต้องมีเป้าหมาย มีเกณฑ์ ใช้ทีมเซลส์แมนจังหวัดและทีมเซลส์แมนประเทศ เป็นฝ่ายสนับสนุนให้ภาคเอกชนทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน เช่น โครงการจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่าง SMEs ในจังหวัด
3. เอกชนต้องเตรียมการรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า ภายหลังประเทศพัฒนาแล้วใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา หากประเทศเหล่านั้นรวมตัวในระบบพหุภาคี หรือในระบบเขตการค้าเสรี (FTA) และ องค์กรการค้าโลก (WTO) มาตรการทางภาษีถูกลดความสำคัญลง และอาจใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีมาเป็นกำแพงกั้นสินค้าที่ไปจากประเทศคู่แข่งหรือประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการแรงงาน มาตรการสิทธิมนุษยชน สุขอนามัย ล่าสุดภาษีคาร์บอน เพื่อเป้าหมายกีดกันทางการค้าหรือปกป้องการค้าของประเทศ โดยอียูเริ่มแล้วในอีก 2 ปี จะคิดภาษีคาร์บอน 5 สินค้า ได้แก่ 1. เหล็ก 2. อะลูมิเนียม 3. ซีเมนต์ 4. ไฟฟ้า 5. ปุ๋ย
ประเทศไทยต้องจับมือกับอาเซียนอีก 9 ประเทศ แข่งขันกันนำบริการที่มีศักยภาพ อย่างดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น แอนิเมชัน ภาพยนตร์ เอกชนต้องกล้าทำ กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปสนับสนุน ต้องไม่เน้นการแข่งขันเรื่องราคาอย่างเดียว ต้องเน้นคุณภาพด้วย
4. อยากให้ภาคเอกชนเร่งศึกษาหาประโยชน์จากเขตการค้าเสรี หรือ FTA และการทำสัญญาการค้าระบบพหุภาคี โดยเฉพาะ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ที่มีสมาชิก 15 ประเทศ รวมถึงไทย กำลังจะมีผลบังคับใช้ อยู่ในขั้นตอนให้สัตยาบันประเทศไทย มีกำหนดการชัดเจนแล้วว่าจะให้สัตยาบันไม่ช้ากว่าเดือนพฤศจิกายนปี 64 คาดว่าจะใช้ได้ปี 65 เพราะฉะนั้นต้องรีบศึกษาข้อตกลงว่ามีอะไรบ้างจะเป็นอุปสรรคกับธุรกิจ จะได้เปรียบเรื่องอะไรบ้าง
ส่วนความคืบหน้าที่เอกชนเรียกร้องมานาน คือ กองทุน FTA ต้องตั้งขึ้นเพื่อช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามถึงกระทรวงการคลังเรื่องการจัดตั้งกองทุน หลังจากผ่านแล้วจะเข้า ครม. อีกครั้ง ประเทศไทยจะได้มีกองทุน FTA ที่เอกชนเรียกร้อง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thai Chamber