กกร.แนะรัฐเร่งฉีดวัคซีน ไม่ควรใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก เพราะเศรษฐกิจทรุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กกร.แนะรัฐเร่งฉีดวัคซีน ไม่ควรใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก เพราะเศรษฐกิจทรุด

Date Time: 2 ก.ย. 2564 08:59 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • กกร.แนะรัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชน สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก เพราะทำให้เศรษฐกิจทรุด

Latest


กกร.แนะรัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชน สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก เพราะทำให้เศรษฐกิจทรุด

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประจำเดือนก.ย. 64 โดยมีนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ เข้าร่วม โดยประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้

- สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มดีขึ้น และแผนการจัดหาวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจนนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคบางส่วนในเดือน ก.ย.

ทั้งนี้ หากสามารถเร่งจัดสรรและฉีดวัคซีนที่มีมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิมขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. Supply chain ของภาคการผลิตใน Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน

2. หากควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้นมาก ภาครัฐจะสามารถเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทัน High Season ในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศให้คึกคักขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession

- เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด บางประเทศมีการกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ กิจกรรมการผลิตฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามต้องติดตาม 3 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ได้แก่

1. ค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่องซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ

2. การขาดแคลนชิปที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหลายสินค้าอุตสาหกรรม

3. เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศ

- แผนการจัดหาวัคซีนและการฉีดที่มีประสิทธิภาพและไม่สับสน สามารถผลักดันให้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 2565 ที่ท้าทายขึ้น หน่วยงานภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะสามารถเติบโตได้ในช่วง 3-5% ซึ่งการเติบโตในระดับนี้ต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยภาครัฐจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น

- การช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้ฟื้นตัวสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติ ขณะนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู โดยนำข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาใช้ปรับเกณฑ์ในรอบนี้ด้วย เพื่อให้เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อระยะถัดวงเงิน 150,000 ล้านบาทมากที่สุด

โดยจะขยายวงเงินสินเชื่อลูกหนี้รายใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินเดิม 30% ไม่ถึง 50 ล้านบาท สามารถขอได้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอมากขึ้นต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้

- ทางการได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันของ บสย. รวมถึงการปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 1-2 เพื่อลดภาระในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนนี้

- ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกิจการ ณ 23 สิงหาคม 2564 สินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 95,436 ล้านบาท จากลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือ 31,162 ราย วงเงินเฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินเดิมขนาด 5-50 ล้านบาท ร้อยละ 44.4 ใกล้เคียงกับลูกหนี้ SMEs ขนาดเล็กหรือ Micro SMEs ร้อยละ 42.4

โดยส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจกลุ่มการพาณิชย์ ร้อยละ 52.7 อุตสาหกรรมทางผลิต ร้อยละ 15.4 การบริการร้อยละ 11 และก่อสร้างร้อยละ 9.5 และความช่วยเหลือภายใต้มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการแล้ว 74 ราย มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 11,095.23 ล้านบาท

- สมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดันโครงการ Digital Supply Chain Platform และการสร้างมาตรฐาน E-invoicing ภายใต้โครงการใหญ่ Digital Supply Chain Project สอดประสานกับโครงการ Smart Financial infrastructure ที่ขับเคลื่อนโดยธปท. เพื่อสร้างระบบที่จะเชื่อมโยงภาคการค้าและภาคการเงิน ด้วยการใช้ข้อมูลกิจกรรมการค้าจากคู่ค้ารายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ บน Supply Chain และข้อมูล E-invoicing มาสนับสนุนในการให้สินเชื่อสำหรับ SMEs ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยที่ภาครัฐสามารถส่งเสริมมาตรการต่างๆ ผ่าน Platform นี้ได้ในอนาคต

- เนื่องจากในช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยจากแผนการจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น และแนวโน้มการติดเชื้อที่เริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ที่ประชุม กกร. จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 1.0% ในส่วนของการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 12.0% ถึง 14.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี

ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐให้การสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการทำ Rapid Test ต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

สำหรับข้อเสนอของ กรร. มีดังนี้

- ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดหาและนำเข้าวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญคือ ต้องดำเนินการให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสื่อสารให้ชัดเจน ไม่ให้สับสน และโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เห็นด้วยกับการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล และไม่ควรมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไป เพราะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ควรใช้มาตรการ Bubble & Seal ร่วมกับการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เชิงรุก โดยใช้ศักยภาพของภาคเอกชนอย่างเต็มที่ในทางที่เสริมและไม่แย่งกัน เพื่อให้การป้องกันโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

- รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง 3,000-6,000 บาท เพราะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ช้อปดีมีคืน (ลดหย่อนภาษี) และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า (Trade war) ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ (New s-Curve) โดยการลงทุนภาครัฐควรทำต่อเนื่องทั้งการลงทุนโดยรัฐเอง

รวมถึงการลงทุนแบบ PPP พร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ รัฐควรเพิ่มงบประมาณสำหรับการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งในต่างประเทศมีสัดส่วนการค้ำประกันที่ทางการสนับสนุนสูงถึง 80-100% ของยอดสินเชื่อ ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ำประกันเพียง 40%

- ขอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อในภาคอุตสาหกรรม โดยให้ความช่วยเหลือในเรื่องของชุดตรวจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงช่วยเหลือในเรื่องของมาตรการการจ่ายภาษีเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ

- กกร.ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในส่วนปัญหาค่าระวางเรือที่มีราคาสูง โดยภาคเอกชนต้องการให้มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม

- กกร.มองว่า ปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัดในหลายอุตสาหกรรมส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหานี้ คือ เซมิคอนดักเตอร์ชิป (Semiconductor chips) ที่ไม่สามารถผลิตได้ทันจนเกิดปัญหาการขาดแคลนในหลายอุตสาหกรรม โดยขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่อง เซมิคอนดักเตอร์ชิป (Semiconductor chips)


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์