พอเริ่มเห็นแสงริบหรี่ๆขึ้นบ้างที่ปลายอุโมงค์ แม้จะอยู่ไกลนักหนา เพราะต้องขยี้ตาแล้วขยี้ตาอีกหลายต่อหลายครั้ง จึงจะสามารถมองเห็นแสงวิบๆที่ว่า...แต่อย่างน้อย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่เริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มจะค่อยๆลดลง ก็ทำให้เกิดความหวังขึ้นมาบ้างในหัวใจคนไทย
เท่าที่ผมเปิดอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และสำนักข่าวออนไลน์เกือบทุกสำนัก เริ่มพบเห็นข่าวที่พอจะเป็นความหวังและกำลังใจให้ประเทศไทยและคนไทยเดินหน้าต่อไปหลังโควิดซาไม่น้อยทีเดียว
มีการจัดเสวนาออนไลน์เรื่องทางรอดประเทศไทยบ้าง อนาคตของประเทศไทยบ้าง โดยเชิญชวนนักวิชาการ นักลงทุน นักธุรกิจ พ่อค้า วาณิช ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียุคใหม่มาเป็นวิทยากรแสดงความคิดเห็นไปแล้วหลายครั้ง โดยสื่อมวลชนและสถาบันต่างๆ
ผมเองถ้ามีเวลาก็จะเข้าไปดูไปฟังการถ่ายทอดสดทางออนไลน์อยู่เสมอ...รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เมื่อลงลึกในรายละเอียดตามประสาคนอยู่นอกวงการ...แต่มองในภาพรวมผมขอชื่นชม ขอขอบคุณและขอปรบมือให้สำหรับการเสวนา หรือสัมมนาต่างๆเหล่านี้
เพราะนี่คือการสร้างปัญญาและความรู้เพื่อให้คนไทยเรามี “อาวุธ” ในการที่จะออกไปสู้รบ หรือไปแข่งขันกับผู้คนในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่เขามีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่มีความรอบรู้ ไม่มีความสามารถ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล เพราะผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศหมกมุ่นอยู่กับการทะเลาะกันเอง ขัดแย้งกันเอง หรือมัวแต่สนใจเรื่องไร้สาระกันไปเสียหมด...ไปสู้รบปรบมือกับใครที่ไหนก็แพ้เขาราพณาสูรแน่นอน
ผมจึงรู้สึกดีใจอยู่เงียบๆว่า ในท่ามกลางข่าวคราวหรือเรื่องราวที่สับสนวุ่นวาย จนแทบไม่เกิดสติปัญญาอะไรเสียเลยนั้น เรายังมีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ในการสร้างปัญญา สร้างความรู้ และคิดโน่นคิดนี่ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยของเราอยู่อย่างขะมักเขม้น
มีทั้งทางฝ่ายภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงองค์กรประชาชน ตลอดจนภาคประชาสังคมจำนวนไม่น้อย
ยกตัวอย่างเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ผมหยิบไทยรัฐขึ้นมาอ่านหน้าเศรษฐกิจก็พบข่าวเล็กๆที่อ่านแล้วชื่นใจหลายๆข่าวด้วยกัน
เริ่มจาก หอการค้าไทย โดยท่านประธานกรรมการหอฯ คุณ สนั่น อังอุบลกุล เปิดเผยว่าหอการค้าฯกำลังชงแผนการ “เปิดเมืองปลอดภัย” ถึงเวลาผ่อนคลายทางธุรกิจให้สามารถกลับมาเดินหน้าได้ โดยจะเริ่มจากธุรกิจเสี่ยงต่ำไปสู่ธุรกิจเสี่ยงสูง ประกอบด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจยาวเหยียด
ขยับลงไปอีกข่าว ล้อมกรอบเอาไว้เล็กมาก แต่เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่มาก...ระบุว่า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยท่านผู้อำนวยการ จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เชื่อมั่นว่าในปีหน้า 2565 หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อุตสาหกรรมไมซ์ หรืออุตสาหกรรมการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการในประเทศไทยน่าจะฟื้นกลับคืนมาได้...โดยทางสำนักงานจะประกาศให้ปี 2565-2566 เป็น ปีแห่งการส่งเสริมการประชุมในประเทศไทย
นั่นก็ข่าวเล็กๆ พาดหัวว่า “บีโอไอ มั่นใจได้ยอดขอส่งเสริมลงทุน 5 แสนล้าน ดันไทยเป็นแหล่งผลิตดาวเทียมของโลก” แถลงโดยรองเลขาธิการบีโอไอ ชนินทร์ ขาวจันทร์
ข่าวนี้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย แถลงโดยท่านอธิบดีกรมสรรพากร เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เปิดเผยว่า 49 แพลตฟอร์มใหญ่ระดับโลกเข้ามาจดทะเบียนกับกรมสรรพากรแล้ว อันจะทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษี “อี เซอร์วิส” มาเป็นรายได้แผ่นดิน ปีละไม่ตํ่ากว่า 5,000 ล้านบาท ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มดังๆ ที่ทั่วโลกรู้จักอย่างดี เช่น เน็ตฟลิกซ์, กูเกิล, เฟซบุ๊ก, ไมโครซอฟท์, แอมะซอน, ซูม และ ฯลฯ
สุดท้ายเลยเป็นบทความเนื้อที่เกือบ 1 ใน 3 ของหน้า ในคอลัมน์ “ตลาดนัดหัวเขียว” โดย วานิชหนุ่ม ซึ่งสัมภาษณ์ทายาทเจ้าสัวใหญ่ซีพี หรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ว่าด้วยแนวทางการต่อสู้ และการปรับตัวของประเทศไทยบนเวทีโลกในปีหน้าปีโน้นน่าสนใจมาก
ผมขอขยักไว้เขียนต่อวันพรุ่งนี้นะครับ เพราะเป็นความตั้งใจของผมอยู่แล้ว ที่จะเขียนถึง “อภิมหาเศรษฐี” ทั้งหลายว่าจะยื่นมือเข้ามาช่วย “ฟื้นฟู” ประเทศอย่างไรบ้าง...หลังวิกฤติโควิด-19 อันหนักหนาสาหัสครั้งนี้คลี่คลายลงไป.
“ซูม”