“บีซีจี โมเดล” คำตอบสุดท้าย พลิกฟื้นประเทศไทยสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“บีซีจี โมเดล” คำตอบสุดท้าย พลิกฟื้นประเทศไทยสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

Date Time: 12 ส.ค. 2564 07:01 น.

Summary

  • “สุวิทย์” แนะรัฐบาลปลุกปั้น BCG Model ให้เป็นรูปธรรม เพราะมีศักยภาพต่อยอดเศรษฐกิจที่ไทยมีเทคโนโลยีอยู่แล้ว ไม่ต้องรอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีไฮเทคจากต่างประเทศ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“สุวิทย์” แนะรัฐบาลปลุกปั้น BCG Model ให้เป็นรูปธรรม เพราะมีศักยภาพต่อยอดเศรษฐกิจที่ไทยมีเทคโนโลยีอยู่แล้ว ไม่ต้องรอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีไฮเทคจากต่างประเทศ เพื่อเป็นคัมภีร์พลิกวิกฤติโควิด-19 ให้เป็นโอกาสได้ แต่ต้องหาคนมีเพาเวอร์ ทำงานเป็นมารับผิดชอบ และต้องวางเป้าหมายการทำงานให้ชัด เหมือนสมัย “ป๋าเปรม” เคยพลิกวิกฤติน้ำมันให้ไทยเป็นยุคโชติช่วงชัชวาล

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในฐานะผู้นำเสนอแนวคิด BCG Model เปิดเผยว่า หนึ่งในวิธีที่ประเทศไทยจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 คือการนำแนวคิด BCG มาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนักหน่วง มีหลายสำนักเศรษฐกิจบอกว่า กว่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติใช้เวลาอีก 2-3 ปี แต่เราจะไปรออย่างเดียวไม่ได้ ประเทศต้องมี Dual Track เห็นด้วยที่รัฐบาลทำอยู่คือ ต้องฟื้นฟูเยียวยา มีคนไร้บ้าน คนตกงานเยอะแยะไปหมด แต่ต้องมีอีกขาหนึ่งเป็นคานงัดให้ประเทศไทยเงยขึ้นมาให้ได้ หนึ่งในวิธีนั้นคือ BCG

สำหรับ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

เทคโนโลยีของไทยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์

“BCG เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เป็นของไทย ไม่ต้องไปเริ่มจากศูนย์ ไม่ต้องไปยืมเทคโนโลยีจากใคร และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้ เพียงต่อยอดเทคโนโลยีที่ไทยพัฒนาเองระดับ 70-80% ที่มีอยู่แล้วไปเติมเต็มอีก 20-30% ไม่เหมือนบางอุตสาหกรรมไฮเทค ชาวบ้านไม่ได้อะไร ต้องใช้เทคโนโลยีของต่างชาติ 100% หรือ 80-90% ซึ่งอีกนานกว่าไทยจะพัฒนาไปถึงจุดนั้น เป็นสาระสำคัญที่ผมมองว่าหลังโควิด-19 การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องชูด้วย BCG เพราะวิกฤติโควิด-19 โดนกันทั่วโลก โอกาสที่จะไปเอาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนเยอะแยะคงยาก จึงต้องใช้โอกาสพึ่งตัวเอง และที่มีโอกาสมากที่สุดคือ BCG เนื่องจากไม่ได้เริ่มจากศูนย์”

นายสุวิทย์กล่าวว่า คนมักจะเข้าใจผิดนึกว่า BCG เป็นเรื่องของอุตสาหกรรม 4 สาขา ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและเคมีชีวภาพ ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่จริงๆแล้วประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ได้หลากหลายมิติ มิติแรกคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใน 4 สาขาข้างต้น ทำดีๆมีโอกาสแข่งขันกับโลกได้ โดย 5 ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถทำได้ทันที ไม่เหมือนเรื่องอากาศยานหรือหุ่นยนต์ ซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีของเรา

มิติที่ 2 BCG จะตอบโจทย์โลกหลังโควิด-19 และวิกฤติโลกร้อน ในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ความมั่นคงอาหารก็ตอบโจทย์ด้วยภาคการเกษตร ความมั่นคงด้านสุขภาพก็ตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพและการแพทย์ ความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่ใช่แค่เรื่องพลังงานสะอาด ยังมีเรื่องของพลังงานชุมชน และความมั่นคงการมีงานทำ ผ่านเรื่องท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ธุรกิจขนาดเล็กมีส่วนร่วม

มิติที่ 3 ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือ BCG เชิงพื้นที่ เพราะ BCG ไม่ใช่ธุรกิจที่รายใหญ่เล่นอยู่รายเดียว ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่มีวิสาหกิจชุมชน แม้กระทั่งสหกรณ์การเกษตรต่างๆ จากความหลากหลายเชิงพื้นที่และมีความหลากหลายเชิงชีวภาพ คือ เสน่ห์ เช่น 18 กลุ่มจังหวัดของไทยถ้าทำแผนชู BCG และบริหารจัดการดีๆจะเท่ากับในทางเศรษฐกิจ เรามี 77 เครื่องยนต์ ที่ต่างคนต่างเดิน แทนการพึ่งพาเครื่องยนต์ใหญ่อย่างกรุงเทพฯ อุดร เชียงใหม่ สงขลาเท่านั้น หรือในระดับชุมชนเล่นได้ทุกอย่าง เช่น การบริหารจัดการน้ำชุมชน การปลูกป่าชุมชน กองทุนพัฒนา BCG ชุมชน เกษตรชุมชน พลังงานชุมชน

มิติที่ 4 ตอบโจทย์ความยั่งยืน BCG เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ เพราะ BCG คือรูปธรรมที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมดุล ความพอดีและไปสู่เป้าหมายความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ต้องหาคนวางภาพใหญ่ทำงานเป็น

การขับเคลื่อน BCG ให้สำเร็จ เช่นที่เคยเรียนกับนายกรัฐมนตรีไป คือ ถ้าให้เป็นวาระแห่งชาติ อย่าให้เฟ้อ เพราะมีวาระแห่งชาติเต็มไปหมด เรื่องนี้ทุกคนมีส่วน ร่วมได้ หรือชูดีๆเป็นวาระระดับโลกได้ ต้องทำเหมือนสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เกิดวิกฤติน้ำมันโลก แต่ไทยทำอีสเทิร์น ซีบอร์ด สามารถเอาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และเกิดอุตสาหกรรมปลายน้ำเต็มไปหมด มีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น สามารถพลิกประเทศไทยได้เลย

สิ่งสำคัญในตอนนั้นคือการบริหารจัดการ ที่ต้องหาคนที่ดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ลงไปศึกษาให้ลึกซึ้ง ต้องจัดทัพให้ดี ตั้งสำนักงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะ หาคนที่มีเพาเวอร์ มีเป้าหมายการทำงานชัดเจน ปฏิบัติเป็น ไม่ใช่รูปแบบมีคณะกรรมการมากมายหลายชุด ไม่ใช่ทุกครั้งต้องให้นายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธาน แล้วขึ้นอยู่กับฝ่ายเลขาฯจะชงอะไรขึ้นมา แต่จะต้องเดินไปข้างหน้าได้เลย พอมีอะไรติดขัดก็ไปบอกให้นายกฯปลดล็อก

“ทีมงานชุดนี้ต้องปลอดการเมือง และเล่นไปเรื่อย ต่อให้มีวิกฤติ หรือไม่มีวิกฤติ ตรงนี้คืออนาคต ต้องมีคนวางภาพใหญ่ และตีโจทย์ที่ต้องขยับ สมมติจะให้เกิดผล 3-5 ปีจากนี้จะเกิดอะไร จะเปลี่ยนประเทศได้อย่างไร ขณะที่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ต้องชงเรื่อง BCG หนักๆ เพื่อเตรียมการให้กับอนาคต”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ