ย้ำร้านอาหารสุดวิกฤติ สมาคมภัตตาคารไทยยื่นไพ่ตาย “ศบค.”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ย้ำร้านอาหารสุดวิกฤติ สมาคมภัตตาคารไทยยื่นไพ่ตาย “ศบค.”

Date Time: 10 ส.ค. 2564 07:35 น.

Summary

  • สมาคมภัตตาคารไทย ทำหนังสือถาม “ประยุทธ์” ขอความชัดเจน เรื่องคืนการค้าขายแบบปกติแก่ร้านอาหาร พร้อมขอให้ ศบค.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

สมาคมภัตตาคารไทย ทำหนังสือถาม “ประยุทธ์” ขอความชัดเจน เรื่องคืนการค้าขายแบบปกติแก่ร้านอาหาร พร้อมขอให้ ศบค.ทำโครงการ “ร้านอาหารรวมใจสู้ภัยโควิด โฮมไอโซเลชัน” โดยสมาคมฯจะรวบรวมร้านอาหารใน 50 เขตของกรุงเทพฯปริมณฑล พร้อมจัดหาไรเดอร์ส่งอาหารให้ เพื่อช่วยกิจการร้านอาหาร และจ้างคนตกงานมาเป็นไรเดอร์

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อขอความชัดเจนในการคืนการค้าขายแบบปกติแก่ร้านอาหาร เนื่องจากสมาคมฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ที่ยังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจต้องเดินคู่ไปกับระบบการสาธารณสุข มิใช่ว่า เมื่อปราบโควิด-19 จบ แต่เศรษฐกิจพังพินาศ

ทั้งนี้ อาจทำให้ร้านอาหารต้องเลิกกิจการไปนับแสนราย มีผู้เกี่ยวข้อง อีกล้านคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้แต่อาหาร 3 มื้อเลี้ยงชีวิต สถานการณ์นี้มีผู้ประกอบการร้านอาหารและพนักงาน ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถมองเห็นทิศทางว่า จะวางแผนรับมือกับธุรกิจอย่างไร รัฐบาลมีแผนจะยกระดับถึงขั้นใด ร้านอาหารใดควรจะปิดชั่วคราวถาวร การดูแลพนักงานและพลิกฟื้นกิจการในอนาคต ควรขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ระดับใด เพื่อวางแนวทางปฏิบัติ พร้อมมีข้อเสนอว่าโครงการคนละครึ่ง ในแพลตฟอร์ม ฟู้ด ดีลิเวอรี ควรเร่งรัดให้ใช้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่ใช่เดือน ต.ค.ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงข่าว

ดังนั้น สมาคมฯจึงขอให้ ศบค.พิจารณาจัดทำโครงการร้านอาหารรวมใจสู้ภัยโควิด โฮม ไอโซเลชัน หรือการส่งอาหารให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าสู่ระบบการกักตัวที่บ้าน โดยให้ร้านอาหาร ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตอาหารตามมาตรฐานด้านโภชนาการ ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด สำหรับผู้ป่วยและนำจัดส่งให้ผู้ป่วยในระบบโฮม ไอโซเลชัน 3 มื้อต่อวัน ในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล มีเวลานำร่องก่อน 2 เดือน คือเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ คาดว่าจะช่วยให้ร้านอาหาร มีช่องทางสร้างรายได้ ช่วยจ้างงานกลุ่มพนักงานขับรถส่งอาหารได้เพิ่มมากขึ้น

“การจัดทำอาหารสำหรับ ผู้ป่วยในระบบโฮม ไอโซเลชัน ตามหลักโภชนาการและอาหารเป็นยา เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบโฮม ไอโซเลชัน ได้รับอาหารครบทุกมื้อ ไม่ให้ผู้ป่วยต้องเดินทางออกนอกพื้นที่โฮม ไอโซเลชัน เพื่อหาซื้ออาหารป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ รวมทั้งยังให้ร้านอาหาร มีรายได้ เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ได้รับผลกระทบ ยอดขาย จากมาตรการควบคุมของ ศบค.โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ กระแสเงินสด การจ้างงานและเศรษฐกิจหมุนเวียน”

สำหรับการดำเนินการ สมาคมฯจะคัดเลือกร้าน อาหารที่มีศักยภาพ สามารถผลิตอาหารได้คุณภาพ ตามหลักโภชนาการผู้ป่วย พร้อมจัดหาไรเดอร์นำส่ง และจัดรอบนำส่งวันละหนึ่งรอบในมื้อเที่ยงมีจำนวนอาหารครบ 3 มื้อต่อรอบต่อคน ซึ่งสมาคมฯ ได้จัดทำฐานข้อมูลร้านอาหารทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯแบ่งย่อย ออกเป็นแขวง ทุกแขวง ไปจัดหาร้านอาหาร เตรียมความพร้อม อบรม ออนไลน์ด้วย

“ปัจจุบัน สมาคมฯได้ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพฯ ทำการส่งอาหารให้ผู้ป่วยในระบบโฮม ไอโซเลชัน เริ่มจากผู้ป่วยเริ่มต้น 700 คน ถึงปัจจุบัน 6,000 คน และร่วมกับบริษัท สกู๊ตตาร์ จำกัด (Skootar) ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งอาหารที่เป็นสตาร์ตอัพ จัดหาพนักงานจัดส่งตามเส้นทางที่กำหนด ปัจจุบันมีไรเดอร์ 1,000 คน และพร้อมจะรับคนมาเป็นไรเดอร์เพิ่มขึ้น ถ้า ศบค.เห็นด้วยกับโครงการที่เสนอไป”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ