นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงข้อมูลปริมาณเฉลี่ยผู้โดยสารรายวันในระบบขนส่งทางรางทุกระบบ พบว่า ปริมาณผู้โดยสารลดลงกว่า 88.8% โดยเหลือเพียงวันละ 138,169 คน/วัน จากการประกาศข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 จนถึงฉบับที่ 28 ในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)
ทั้งนี้ จากการจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยในช่วงก่อนการระบาดภายในประเทศในปี 62 สามารถจำแนกตามระบบ ดังนี้ 1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (SRT) ลดลง 90.76% เหลือ 7,896 คน/วัน 2.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) ลดลง 80.05% เหลือ 67,251 คน/วัน 3.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ARL) ลดลง 86.75% เหลือ 9,531 คน/วัน 4.รถไฟฟ้า BTS ลดลง 82.27% เหลือ 130,240 คน/วัน
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ประกอบกับการมีข้อกำหนดในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ขอความร่วมมือให้ประชาชนชะลอหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น รฟท.จึงได้ออกแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการยกเลิกการเดินทางตามนโยบาย ของภาครัฐ โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้-31 ส.ค.64 ให้ผู้โดยสารสามารถยกเลิกตั๋วโดยสาร และคืนเงินได้เต็มจำนวน
ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสาร (รายบุคคล หมู่คณะ) ตั๋วสำหรับเช่าขบวนรถพิเศษโดยสาร และเช่ารถโดยสารไว้ล่วงหน้า ติดต่อขอคืนเงินค่าตั๋วก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 1 วัน ยกเว้นค่าธรรมเนียมการคืนเงิน (คืนเต็มราคา) กรณีจังหวัดสถานีต้นทางหรือปลายทางตามตั๋วของผู้โดยสารเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้คืนเงินค่าตั๋วก่อนขบวนรถออกไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการคืนเงิน (คืนเต็มราคา) กรณีจองซื้อตั๋วทางอินเตอร์เน็ต หากไม่สะดวกคืนเงินค่าตั๋วผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อนุญาตคืนเงินค่าตั๋วก่อนขบวนรถออกไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง โดยยื่นคำร้องได้ที่สถานี.