แนะช่วยผู้มีรายได้น้อย สศช.ระบุแนวโน้มหนี้ครัวเรือนพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แนะช่วยผู้มีรายได้น้อย สศช.ระบุแนวโน้มหนี้ครัวเรือนพุ่ง

Date Time: 5 ก.ค. 2564 05:30 น.

Summary

  • สศช.เผยผู้มีรายได้ที่มีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มหลังการแพร่ระบาดรอบใหม่ กดดันหนี้ครัวเรือนเพิ่ม แนะเร่งออกมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น-ยาว รวมฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพรวม

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

สศช.เผยผู้มีรายได้ที่มีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มหลังการแพร่ระบาดรอบใหม่ กดดันหนี้ครัวเรือนเพิ่ม แนะเร่งออกมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น-ยาว รวมฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพรวม

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนการแพร่ระบาด ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น และยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้นโดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากเงินฝากต่อบัญชีหลังการระบาดระลอกแรกในเดือน มี.ค.2563 ที่พบว่าบัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100,000 บาท ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนรายได้น้อยอาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ในปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อในกลุ่มสินค้าคงทน ได้แก่ ที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อชะลอตัวลง ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

สำหรับมาตรการในระยะสั้น ต้องดำเนินการ คือ 1.การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างไปแล้วเดิม ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ อาจต้องมีการจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น 2.ให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ และรายได้ลดลงอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ 3.การเฝ้าระวังปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และการก่อหนี้นอกระบบ

สำหรับในระยะยาว การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ยั่งยืนคือ 1.การให้ความรู้ทางการเงิน เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการก่อหนี้ระยะสั้น ไม่ก่อให้เกิดรายได้สะท้อนจากโครงสร้างการก่อหนี้ รวมถึงขาดการวางแผนทางการเงิน 2.การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้ส่งเสริมการก่อหนี้เกินควรของประชาชน 3.การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ เพื่อสร้างทางออกให้ประชาชนที่ติดกับดักหนี้

สำหรับปัจจุบันหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 4 ปี 2563 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่หากพิจารณาการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีในครั้งนี้ จะเป็นผลจากการหดตัวของจีดีพี ตามผลกระทบของโควิด-19

ขณะที่มูลค่าหนี้ครัวเรือนกลับชะลอขยายตัว โดยในไตรมาส 4 ปี 2563 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ปัจจุบันเป็นปัญหาในเรื่องรายได้ไม่ใช่ปัญหาก่อหนี้

อย่างไรก็ดี การมีหนี้สินครัวเรือนระดับสูงจะเป็นข้อจำกัดหนึ่งมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงมากและฟื้นช้า ทำให้ภาคครัวเรือนเพิ่มการออมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต สะท้อนจากเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มสูงขึ้น มากกว่า 10% จะส่งผลให้การบริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวอย่างช้าๆ

ดังนั้น ทางออกคือการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีการประสานงานของทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กระบวนการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็นของภาคครัวเรือนเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่สร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจ ซึ่งในระยะสั้นจึงต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูรายได้และงบดุลของครัวเรือนควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะกรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ