ส.อ.ท.หนุนจับคู่ธุรกิจ ป้อนแรงงานช่วยส่งออก หลังออเดอร์พุ่งแต่ขาดแรงงาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส.อ.ท.หนุนจับคู่ธุรกิจ ป้อนแรงงานช่วยส่งออก หลังออเดอร์พุ่งแต่ขาดแรงงาน

Date Time: 2 ก.ค. 2564 06:30 น.

Summary

  • ส.อ.ท.งัดมาตรการจับคู่ธุรกิจ หาแรงงานป้อนธุรกิจส่งออก หลังออเดอร์พุ่งแต่ขาดแรงงานในระบบ 100,000 คน โดยจับคู่กับโรงงานที่ต้องการลดภาระจ้างงานระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือนหรือสิ้นปีนี้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ส.อ.ท.งัดมาตรการจับคู่ธุรกิจ หาแรงงานป้อนธุรกิจส่งออก หลังออเดอร์พุ่งแต่ขาดแรงงานในระบบ 100,000 คน โดยจับคู่กับโรงงานที่ต้องการลดภาระจ้างงานระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือนหรือสิ้นปีนี้ เพื่อรอวันเศรษฐกิจฟื้นตัว มั่นใจช่วยดันส่งออกให้ไปต่อได้ แถมได้ลดการปลดคนงานออก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของประเทศไทยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 23,057 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออกที่ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ปีตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว จากการที่หลายประเทศประสบความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์ คำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมราว 100,000 คน

ดังนั้น ส.อ.ท.จึงดำเนินมาตรการจับคู่ ธุรกิจหาแรงงาน (Matching) กับผู้ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ระหว่างโรงงานที่ต้องการกำลังคนเพิ่มกับโรงงานที่ต้องการลดภาระกำลังคนชั่วคราวในช่วงไม่เกิน 6 เดือนหรือภายในสิ้นปีนี้ “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องระลอก 2 และ 3 ทำให้แรงงาน ต่างด้าวบางส่วนกลับภูมิลำเนาซึ่งในระลอก 2 หลายโรงงานได้รับผลกระทบ แต่พอระลอก 3 มีโรงงานที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานต่างด้าวบางส่วนกลับมาไม่ได้ ทำให้มีปัญหาแรงงานขาดแคลนทั้งระบบ 100,000 คน โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้น”

ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมที่เน้นการจำหน่ายในประเทศ ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อของคนไทยยังไม่ดีขึ้น ทำให้เจ้าของโรงงานต้องพยายามประคับ ประคองแรงงานเอาไว้ และอาจไม่สามารถประคองการจ้างงานเอาไว้ได้ จึงอาจนำมาจับคู่ให้กับโรงงานที่มีความต้องการแรงงานเพิ่ม เพื่อทำให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยไม่สะดุด ขณะเดียวกันช่วยไม่ให้โรงงานที่กำลังลำบาก ต้องแบกภาระจนอาจนำไปสู่การปลดคนงาน

นายเกรียงไกรกล่าวว่า แนวทางที่พิจารณาเพื่อการจับคู่ของ ส.อ.ท.จะเป็นทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานคนไทย โดยมีเงื่อนไขหลักสำคัญคือ 1.ต้องดูประเภทอุตสาหกรรมที่อยู่ในลักษณะหรือเข้าข่ายประเภทเดียวกันเพื่อให้แรงงานสามารถดำเนินงานได้ทันที 2.โรงงานและที่พักแรงงานจะต้องอยู่ไม่ไกลกัน เพื่อสะดวกต่อการทำงานของแรงงาน 3.เป็นสัญญาแลกเปลี่ยนระยะสั้นๆ 3-6 เดือน เพื่อให้โรงงานเดิม เมื่อเศรษฐกิจดียังคงมีแรงงานกลับไปทำงานเช่นเดิม ซึ่งมองว่าหากรัฐบาลฉีดวัคซีนได้ตามแผน เศรษฐกิจก็น่าจะกลับมาค่อยๆฟื้นตัวได้ปลายปีนี้

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยยังมีทิศทางที่ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยวงเงินจำนวนมากทำให้เกิดกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจีนที่มีกำลังซื้อเข้ามาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดไปแล้ว 92 ประเทศ ส่งผลให้หลายประเทศที่กำลังฟื้นตัว ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่และหลายประเทศทั่วโลกจะรับมือกับสายพันธุ์นี้ได้แค่ไหน หากลุกลามก็จะกระทบต่อการส่งออกของไทย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ